|
ซ่วงฉิ๋ 双喜 : ความสุขคู่ : หวางอ้านซื่อ 王安石
ประเพณีการแต่งงาน มีสิ่งหนึ่งที่เห็นเด่นชัดก็คือ อักษรจีนคู่เขียนบนกระดาษแดงตัวใหญ่ติดผนัง อ่านว่า ซ่วงฉิ๋ 双喜 แปลว่า ความสุขคู่ ความรักคู่ ความสนุกสนานรื่นเริงคู่ คู่แฝด สอง โดยใช้ตัวอักษรฉิ๋ 喜 มาเข้าคู่กันเป็น 喜喜 ที่ได้ใช้กันมาจนเป็นประเพณีเกือบพันปีแล้ว ตัวอักษรคู่ทำให้คนจินตนาการเหมือนรูปคนคู่มีตัวมีแขนขามีศีรษะสวมหมวก ส่วนความเป็นมาเป็นอย่างไรนั้น เท่าที่ดูจากเอกสารตอนนี้มีสองตำนาน ดังนี้
ตามตำนานเรื่องแรก กล่าวว่า ในสมัยราชวงศ์ถังระหว่างค.ศ. ๖๑๘ - ๙๐๗ มีนักศึกษาหนุ่มคนหนึ่งกำลังเดินทางไปสอบจอหงวนที่เมืองหลวง ซึ่งแต่ละคนหวังว่าจะสอบได้ที่หนึ่งหรือจอหงวนก็จะได้รับบรรจุเป็นขุนนางชั้นสูง เมื่อเดินทางผ่านภูเขาใกล้หมู่บ้านเชิงเขาแห่งหนึ่ง เขาล้มป่วยกระทันหันกลางทาง ขณะนั้นมีหมอยาสมุนไพรและบุตรสาวกลับจากเก็บสมุนไพรบนภูเขาพบเข้า จึงนำเขาไปรักษาที่บ้าน ทั้งหมอและบุตรสาวต่างเอาใจใส่ผู้ป่วยอย่างดี เขาพักรักษาตัวอยู่หลายวันจนโรคป่วยหาย พร้อมที่จะเดินทางไปเมืองหลวง แต่ด้วยความมีน้ำใจจากหมอและความมีน้ำใจจากบุตรสาวหมอ เขาไม่รู้จะขอบคุณอย่างไร โดยเฉพาะกับบุตรสาวหมอที่เขาหลงรัก รวมทั้งตัวเธอที่หลงรักหนุ่มด้วย ด้วยความรักที่มีต่อกัน เธอจึงเขียนคำกลอนคู่ ด้วยการเขียนเพียงหนึ่งคำกลอน เพื่อให้หนุ่มคนรักต่ออีกหนึ่งคำกลอน ดังข้อความว่า ต้นไม้สีเขียวชูกิ่งก้านสู่ฟ้าในช่วงฝนฤดูใบไม้ผลิ, ขณะที่ฟ้าปกคลุมแมกไม้ฤดูใบไม้ผลิทำให้เกิดเงา ชายหนุ่มรับมาแล้วเห็นว่าการต่อคำกลอนนี้ไม่ง่ายเลย จึงรับปากเธอว่า เมื่อสอบเสร็จแล้วจะกลับมา ขอให้เธอรอเขา
ผลการสอบของเขาที่เมืองหลวง ปรากฏว่าสอบผ่านในระดับจินสือ เพื่อเข้าสอบชิงตำแหน่งจอหงวนและตำแหน่งรองๆลงไปต่อพระพักตร์ฮ่องเต้ ซึ่งพระองค์ได้ทรงทดสอบหนุ่มด้วยคำกลอนที่ทรงเขียน แล้วให้หาคำคู่เหมือนมาตอบ
ดังข้อความว่า ดอกไม้แดงหล่นลงพื้นพลิ้วตามสายลม, ขณะที่พื้นกลายเป็นสีแดงหลังจากถูกจุมพิศ ชายหนุ่มเห็นคำกลอนที่ทรงเขียน ก็รู้ทันทีว่า คำตอบเข้าคู่กับคำถามนี้ก็คือคำกลอนของคนรักที่ฝากเขามานั่นเอง รวมความว่า ดอกไม้แดงหล่นลงพื้นพลิ้วตามสายลม, ขณะที่พื้นกลายเป็นสีแดงหลังจากถูกจุมพิศ ต้นไม้สีเขียวชูกิ่งก้านสู่ฟ้าในช่วงฝนฤดูใบไม้ผลิ, ขณะที่ฟ้าปกคลุมแมกไม้ฤดูใบไม้ผลิทำให้เกิดเงา
ฮ่องเต้ทรงพอพระทัยมาก ด้วยคำกลอนที่เอามาต่อ มีความกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน จึงทรงแต่งตั้งให้เป็นขุนนางชั้นสูง และทรงอนุญาตให้กลับบ้านไปแต่งงานกับคนรักได้ เขาจึงเขียนคำว่า ความสุขคู่หรือความรักคู่ ซึ่งก็คือตัวอักษรฉิ๋สองตัว 喜喜 บนกระดาษแดงเอาไปปิดผนัง เพื่อแสดงถึงความสุขสองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คือ สอบได้จอหงวนรับราชการเป็นขุนนางชั้นสูงกับการแต่งงานกับคนที่รัก ซึ่งภายหลังจากนั้น เมื่อชาวเมืองแต่งงาน จึงเขียนตัวอักษรคู่ และปฏิบัติกันมาเป็นประเพณีจนถึงทุกวันนี้
ตำนานเรื่องที่สอง กล่าวว่า ในสมัยราชวงศ์ซ่งระหว่างค.ศ. ๙๖๐ - ๑๒๗๙ นักศึกษาหนุ่มคนหนึ่งชื่อ หวางอ้านซื่อ 王安石 พื้นเพอยู่ที่เมืองตงเชียง มณฑลฝูโจว ถือกำเนิดเมื่อ ค.ศ. ๑๐๒๑ ได้เดินทางเข้าเมืองหลวงเพื่อสอบจอหงวน เขาสอบได้อันดับที่สี่ คิอเป็นจินสือ เมื่ออายุเพียง ๒๑ ปีในปีค.ศ. ๑๐๔๒
แต่ก่อนที่เขาจะสอบนั้น หวางอ้านซื่อได้เดินทางถึงตำบลหนึ่ง เขาอยากพักในตำบลนี้สักวันสองวัน หลังจากรับประทานอาหารเย็นแล้ว จึงเดินชมตลาดในตัวเมือง เห็นบ้านหลังใหญ่หลังหนึ่งเป็นตระกูลแซ่หม่า แขวนโคมไฟสว่างไสวไว้หน้าบ้าน เขาจึงเดินเข้าไปใกล้หน้าบ้านที่มีข้อความเขียนวรรคหนึ่งห้อยไว้ว่า ประตูเปิดหมุนออก ม้าเดินตามแสงไฟ โคมไฟทำให้ม้าหยุดเดิน กำลังรอให้ผู้รู้เติมวรรคสอง เพื่อให้คำกลอนเข้าคู่กัน ในขณะนั้นมีคนในบ้านแซ่หม่าออกมาเชิญชวนผู้คนที่ผ่านไปมาให้เติมคำกลอนให้เข้าคู่กัน ฝ่ายหวางอ้านซื่อเพียงแต่เดินผ่านไป
วันต่อมาหวางอ้านซื่อเข้าห้องสอบ เมื่อสอบข้อเขียนผ่านไปแล้วด้วยดี ทำให้กรรมการคุมสอบท่านหนึ่งมีความพอใจในผลการสอบข้อเขียนของเขา เขาจึงเข้าสอบสัมภาษณ์ เขาเห็นบทกลอนบนธงหน้ากรรมการสอบเขียนไว้ว่า ธงรูปเสือบิน เสือบินรูปธง ตัวเสือพลิ้วไปตามธงธิเบต ซึ่งผู้เข้าสอบจะต้องแต่งบทกลอนอีกหนึ่งวรรคให้เข้าคู่กัน เขาจึงไม่ลังเลด้วยการเอาบทกลอนที่เขาเห็นแขวนอยู่หน้าบ้านตระกูลแซ่หม่ามาเติมวรรคที่สองว่า ประตูหมุนออก ม้าเดินผ่านแสงไฟ โคมไฟทำให้ม้าหยุด
ภายหลังจากการสอบแล้วหวางอ้านซื่อจึงกลับไปยังตำบลแซ่หม่า คิดถึงคำกลอนที่แขวนไว้หน้าบ้านใหญ่ที่เขาเคยผ่านไปเห็น หลายวันต่อมาคนในบ้านแซ่หม่าคิดถึงเขา จึงเชิญเข้าบ้าน ให้เขาเขียนต่อคำกลอนวรรคสอง หวางอ้านซื่อจึงเขียนคำกลอนวรรคสองที่ค้างที่เขาเคยสอบ
คำกลอนท่อนแรกเขียนไว้ว่า ประตูหมุนออก ม้าเดินผ่านแสงไฟ โคมไฟทำให้ม้าหยุด ................... รอให้นักกลอนมาต่อท่อนที่สอง ซึ่งหวางอ้านซื่อได้เขียนวรรคสองต่อว่า ธงรูปเสือบิน เสือบินรูปธง ตัวเสือพลิ้วไปตามธงธิเบต ทำให้เจ้าของคำกลอนคือหม่าฟุดีใจในความเฉลียวฉลาดของหวาง จึงยกบุตรสาวแซ่หม่าให้แต่งงานกันที่บ้านนั้น ในวันแต่งงาน ฝ่ายหม่าฟุบิดาเจ้าสาวจัดเตรียมงาน อย่างดี ในขณะนั้นได้มีรับสั่งจากในวังประกาศผลการสอบ และมีการจัดเลี้ยงกันในวันรุ่งขึ้น ฝ่ายเหล่าบรรดาญาติตระกูลหม่าได้จัดเลี้ยงวันแต่งงานอย่างครึกครื้น ด้วยมีเหตุการณ์เกิดขึ้นถึงสองประการคือ หวางอ้านซื่อสอบได้เป็นจินสือและโชคดีที่ได้แต่งงาน ฝ่ายหวางอ้านซื่อจึงเอากระดาษแดงแผ่นใหญ่มาเขียนอักษร ฉิ๋สองตัวเข้าด้วยกัน喜喜 ซึ่งหมายถึง ความสุขคู่หรือความรักคู่ หรือความสนุกสนานรื่นเริงทั้งคู่ เอาไปติดที่ประตูบ้าน
ด้วยเหตุดังกล่าว งานแต่งงานต่อๆมา จึงนิยมเขียนตัวอักษรฉิ๋คู่ ติดที่ฝาผนังในงาน เป็นที่นิยมทำกันจนกลายเป็นประเพณีสืบมาจนทุกวันนี้ หวางอ้านซื่อ เป็นขุนนางชั้นสูง เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐบุรุษ เป็นนักคิด นักเขียนอัจฉริยะคนหนึ่ง มีผลงานเขียนจำนวนมาก ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อค.ศ. ๑๐๘๖
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
****
|
|
|