|
โบราณคดีที่ตำบลเจี่ยหู 賈湖แผ่นดินที่กว้างใหญ่ไพศาล ของประเทศจีน ประชากรชาวจีนได้สร้างสมวัฒนธรรมและมีพัฒนาการมาเป็นเวลาหลายพันปี จนมาถึงยุคนี้ ได้มีการสำรวจโดยนักโบราณคดีจีนและชาวต่างชาติ จึงได้เผยให้เห็นถึงพัฒนาการของวัฒนธรรมอันหลากหลาย ในด้านชีวิตความเป็นอยู่ พื้นที่หลายแห่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก อย่างไรก็ตาม มีพื้นที่อีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้รับการขุดค้นทางโบราณคดี ซึ่งต่อไปอาจเห็นพัฒนาการของวัฒนธรรมจีนจากพื้นที่แหล่งอื่นๆ ตำบลเจี่ยหู 賈湖 เป็นอีกที่หนึ่ง ที่นักโบราณคดีจีนได้ทำการขุดค้นศึกษา ถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนจีนโบราณ ตำบลเจี่ยหู ตั้งอยู่บริเวณตะวันออกของภูเขาฟุหลิว ซึ่งเป็นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำหวยเหอ อำเภออู่หยาง บริเวณภาคกลางของมณฑลเหอหนาน บริเวณเนื้อที่การขุดค้นกว่า ๕๕,๐๐๐ ตารางเมตร แม่น้ำหวยเป็นแม่น้ำหลักสายหนึ่งที่อยู่ระหว่างแม่น้ำหวงเหอกับแม่น้ำแยงซี แม่น้ำหวยยาวประมาณ๑,๐๗๘ กิโลเมตร และเป็นเส้นแบ่งระหว่างจีนเหนือกับจีนใต้ บริเวณขุดค้นทางโบราณคดีเป็นสมัยนีโอลีธิก ก่อนค.ศ. ๗๐๐๐ ถึงก่อนค.ศ. ๕๘๐๐ ปีหรือประมาณ ๙๐๐๐ ถึง ๗๘๐๐ ปีมาแล้ว บริเวณขุดค้นคือตำบลเจี่ยหู อำเภออู่หยาง มณฑลเหอหนาน เริ่มตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๐๓ จนถึงปัจจุบัน ตำบล เจี่ยหูอยู่ห่างจากอำเภออู่หยาง ๒๒ กิโลเมตร ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเหอหนาน บริเวณเนินเขาฟุหลิวเป็นพื้นที่ขุดค้นที่ได้ข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงสุกร การปลูกข้าว เครื่องดนตรี การต้มกลั่น และการขีดเขียน เป็นต้น สิ่งสำคัญที่ขุดค้นได้คือ พวกเครื่องมือที่ทำจากกระดูกสัตว์ จากหิน และภาชนะเครื่องปั้นดินเผา พวกจอบ พวกเคียว พวกมีด เตาสามขาสำหรับวางหม้อ ฉมวกหนาม ขวานหิน สิ่ว พวกเปลือกหอย และที่สำคัญคือ กระดองเต่าที่มีรอยขีดเขียนเป็นตัวอักษร ขณะนี้จึงเข้าใจกันว่า การเขียนเป็นตัวอักษรอาจเริ่มต้นที่เจี่ยหูก็ได้ จากการวิเคราะห์ของนักวิจัยทำให้ทราบว่า เจี่ยหูเป็นที่ปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองของจีนมากว่า ๙๐๐๐ ปีแล้ว ตลอดจนการทำปศุสัตว์ การล่าสัตว์และการประมง สัตว์ ที่เลี้ยงที่เจี่ยหูโบราณได้แก่ สุนัข หมู วัว ควาย แพะ สัตว์ป่าที่ชนเจี่ยหูล่าได้แก่ นกกระเรียน กระต่าย กวาง ปลาคาร์ป หอยเชลล์ จระเข้แม่น้ำแยงซี เป็นต้น พวกเขาเก็บผักสมุนไพรพืชนิดต่างๆ ผลเกาลัด ถั่วปากอ้า ผลโอ๊ก เป็นต้น บริเวณ หลุมฝังศพที่ขุดค้นกว่า ๓๐๐ หลุม และศพกว่า ๕๐๐ ศพ เรียงรายกันนั้นมีศพหลากหลายอายุ รวมทั้งเด็กด้วย ที่น่าสนใจคือแต่ละศพมีข้าวของเครื่องใช้ที่ฝังรวมกับศพ บางศพมีเครื่องมือที่มีคุณค่าที่ผู้มีฐานะใช้ จึงเข้าใจกันว่า สมัยนั้นมีการแบ่งชนชั้นกันในสังคมแล้ว อย่างไรก็ตาม ที่ตำบลเจี่ยหูได้มีการขุดค้นเพียงประมาณ ๕ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น หรือประมาณ ๒,๓๐๐ ตารางเมตร สิ่งที่ได้พบคือ บ้าน ๔๕ หลัง ขนาด กว้าง ๓ - ๔ เมตร บางหลังแยกห้องออกไป เตา เผาสำหรับทำภาชนะดินเผา ๙ แห่ง วัตถุที่พบเป็นพันชิ้นได้แก่ กระดูก ภาชนะดินเผากว่า ๕๐๐๐ ใบ เครื่องมือหินและวัตถุอื่นๆ ซึ่งนักโบราณคดีกำลังทำงานกันต่อไป สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ได้ค้นพบก็คือ ขลุ่ย อายุกว่า ๘๐๐๐ ปี ทำด้วยกระดูกขาของนกกระเรียนแดง ขลุ่ยยาว ๒๐ เซ็นติเมตร กว้าง ๑.๑ เซ็นติเมตร มี ๗ รู ซึ่งคล้ายกับขลุ่ยที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน มีการเจาะรูระยะห่างกันเพื่อการทดสอบเสียง ทำให้คิดได้ว่า ชาวเจี่ยหูมีทักษะในการสร้างระดับเสียงกับความยาวของตัวขลุ่ย ดังนั้น นักวิจัยทางดนตรีได้สรุปว่า การสร้างระดับเสียงเป็น ๗ ระดับนั้น ชาวเจี่ยหูได้เริ่มทำมากว่า ๘๐๐๐ ปีแล้ว การเกษตรที่สำคัญอีกอย่างของชาว เจี่ยหู คือ การปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมือง นักวิจัยได้ค้นพบว่า การปลูกข้าวที่เจี่ยหูมีอายุเก่าแก่กว่าที่อืนทั่วโลก และเก่ากว่าการปลูกข้าวที่เหอมูตู้ มณฑลเจ้อเจียง ของจีน คือประมาณกว่า ๘๐๐๐ ปี ซึ่งนักวิจัยได้ศึกษาถึงการเก็บเกี่ยวข้าว การสร้างยุ้งฉาง การชลประทาน ทั้งนี้เกี่ยวกับภูมิอากาศที่ราบลุ่มแม่น้ำหวยเป็นสำคัญ ส่วนพันธุ์ข้าวที่ใช้เป็นข้าวพันธุ์เมล็ดเล็กกว่าในปัจจุบัน ซึ่งน่าจะพัฒนามาจากพันธุ์ข้าวป่า นอกจากนี้ยังได้ปลูกข้าวฟ่าง ซึ่งพบได้ทางโบราณคดีทั่วไป ที่ สำคัญอีกประการหนึ่งที่ชาวเจี่ยหูฝากให้ชาวโลกได้รับรู้ คือ การทำสุรา ชาวเจี่ยหูได้ทำสุราดึ่มใช้กันมาเป็นเวลา ๙๐๐๐ ปีแล้ว ดร.แพตทริก แม็กโกเวิร์น นักวิจัยแห่งพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยเพ็นซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาวิเคราะห์ทางเคมีจากภาชนะหม้อดินเผาที่ตำบลเจี่ยหูสมัยนีโอลีธิก พบว่า ในหม้อที่ใช้หุงต้มนั้นมีส่วนประกอบของ ข้าว น้ำผึ้งและผลฮอร์ธอน หรือซานจ๊ะ 山楂 ซึ่งเป็นส่วนพื้นฐานในการทำสุรา ถึงแม้ไม่มีกลิ่นสุรา ด้วยระยะเวลาถึง ๙๐๐๐ ปี ก็ตาม การทำสุราเอาไปประกอบพิธีกรรมหรือไม่ยังไม่มีการวิจัย แต่ที่สำคัญคือ ชาวเจี่ยหูต้มสุรากินกันแล้ว ซึ่งมีอายุเก่ากว่าการค้นพบการต้มสุราที่แถบเทือกเขาจากร๊อส ประเทศอิหร่านตะวันตก ที่มีอายุประมาณ ๕๕๐๐ ปี หากศึกษาประว้ติศาสตร์ทางโบราณคดีของจีน สมัยซานหวงอู่ตี้ ซึ่งอยู่ระหว่างประมาณ ๕๐๐๐ ถึง ๒๐๐๐ ปีมาแล้วนั้น การ ที่พระจักรพรรดิราชทรงสอนให้ราษฎรทำการเกษตรเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ การอ่าน การเขียน การทำยาสมุนไพร การสร้างที่อยู่อาศัย การประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้ การใช้ไฟหุงต้ม การหลอมสำริด เงิน ทองคำ การทำเครื่องดนตรี เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ได้มีมาก่อนแล้วทั้งสิ้น เพียงแต่พระองค์ได้ส่งเสริมให้ราษฎรได้ทำกัน ดัง นั้น วัฒนธรรมของจีนในหลายเรื่อง ได้มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องยาวนานไม่ขาดสาย จาก ๙๐๐๐ ปีถึง ประมาณ ๕๐๐๐ ปี เรื่อยลงมาจนถึงสมัยประวัติศาสตร์จีนคือเริ่มจากสมัยราชวงศ์ซังประมาณ ๓๖๐๐ ปีเป็นต้นมา ล้วนเป็นมรดกตกทอดมาสู่ชนรุ่นหลัง สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๑ มกราคม ๒๕๕๗ ******
ภาพประกอบ
ที่ตั้งตำบลเจี่ยหู
ขลุ่ยทำด้วยกระดูกนกกระเรียน
เปรียบเทียบเมล็ดข้าว
ภาชนะดินเผา
ภาชนะดินเผาใช้ดึ่มสุรา
เครื่องสำริด
ลายการขีดเขียน
****** |
|
|