|
ถังหมิงหวง 唐明皇
ฮ่องเต้ถังหมิงหวง 唐明皇 หรือ ฮ่องเต้ถังเสวียนจง 唐玄宗( หลี่หลงจี ) แห่งราชวงศ์ถัง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามว่า เล่าเอี๋ย หรือเหล่าเหยีย 老爷 หรือ เตี่ยนฮู้หงวนโส่ย 天府元帥 มีรูปแกะสลักตามศาลเจ้าต่างๆในจังหวัดภูเก็ต จากประวัติการกินผักของศาลเจ้ากะทู้กล่าวว่า ก่อนที่คณะงิ้วจะกลับเมืองจีน ได้มอบเทวรูปหรือกิมสีนไว้ให้ ๒ องค์ คือ เทพเจ้าเล่าเอี๋ยกับเทพเจ้าหลี่โลเชียไว้ที่โรงเจกะทู้ ฮ่องเต้ถังหมิงหวง พระนามเดิมว่า หลงจี ราชสกุลแซ่หลี่เป็นหลี่หลงจี 李隆基 เป็นพระราชโอรสของฮ่องเต้ถังยุ่ยจง ( หลี่ตั้น )กับพระสนมโต้ว ( แซ่โต้ว ) ประสูติที่เมืองลั่วหยางเมื่อพ.ศ. ๑๒๒๘ ในขณะที่พระราชบิดาเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นปีที่ ๑ ใช้ปีรัชกาลว่าเหวินหมิง แต่ขณะนั้นพระนางอู่เจ๋อเทียน หรือพระนางบูเช็กเทียนหรือพระนางอู่ไท่โฮ่ว ครองอำนาจอยู่และตั้งตนเป็นสมเด็จพระจักรพรรดินีทรงตั้งราชวงศ์ใหม่เป็นราชวงศ์โจว พระบิดาจึงเป็นหุ่น ไม่มีอำนาจอะไรจำต้องขังพระองค์เองอยู่ในวังเพื่อความอยู่รอด เมื่อหลี่หลงจีประสูติได้ ๓ ขวบ ทรงได้รับฐานันดรศักดิ์เป็น ฉู่หวางแห่งเมืองฉู่ หรือฌ้ออ๋องแห่งเมืองฌ้อ กล่าวกันว่าพระองค์ทรงหล่อมาก พระพักตร์ขาวนวลเป็นยองใยดุจวัยเด็ก ทรงมีพระเชษฐา ๒ องค์คือ องค์ชายหลี่เฉิงฉี่ องค์ชายหลี่เฉิงอี้ พระอนุชา ๓ องค์ คือ องค์ชายหลี่หลงฟ่าน องค์ชายหลี่หลงเย่ และองค์ชายหลี่หลงตี้ พระองค์ทรงเฉลียวฉลาด ทรงมีภาวะเป็นผู้นำสูง เมื่อพระนางอู่ไท่โฮ่วอายุได้ ๘๕ ปีพวกขุนนางในพระราชวังจึงก่อการรัฐประหาร ให้พระนางสละราชสมบัติแล้วเชิญเสด็จฮ่องเต้ถังจงจง( หลี่เสี่ยนหรือหลี่เจ๋อ)องค์ก่อนมาเป็นฮ่องเต้ได้ ๕ ปีก็เสด็จสวรรคต องค์ชายหลี่ฉงเม่าเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นฮ่องเต้ถังซังตี้ ทรงครองราชย์ได้ปีเดียวจึงเชิญเสด็จฮ่องเต้ถังยุ่ยจง(หลี่ตั้น) ขึ้นครองราชย์แทน เป็นครั้งที่สอง พระองค์จึงทรงแต่งตั้งองค์ชายหลี่หลงจี เป็น ปิงหวาง และทรงเป็นองค์รัชทายาทเมื่อพระชนม์ได้ ๒๕ ปี เมื่อ พ.ศ. ๑๒๕๓ในปีจิ่งอวิ๋นที่ ๑ ด้วยทรงเห็นว่าองค์ชายหลี่หลงจีสามารถที่จะนำพาประเทศชาติให้อยู่รอดปลอดภัยได้ดีกว่าโอรสองค์พี่อีกสององค์ ต่อมาพระราชบิดาทรงสละราชสมบัติ ให้องค์ชายหลี่หลงจีขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า ฮ่องเต้ถังเสวียนจงเมื่อพ.ศ. ๑๒๕๕ ใช้ปีรัชกาลว่า เซวียนเทียนเพียงปีเดียวแล้วเปลี่ยนเป็น ไคเอวี๋ยนเมื่อพ.ศ. ๑๒๕๖ อีกพระนามหนึ่งคือฮ่องเต้ถังหมิงหวง พระองค์ทรงมีความสามารถที่จะบริหารบ้านเมือง ได้เทียบเท่ากับฮ่องเต้ถังไท่จง ( หลี่ซื่อหมิน ) หรือพระนางอู่เจ๋อเทียน แต่ปัญหาที่สั่งสมมาจากรัชกาลพระนางอู่เจ๋อเทียน และฮ่องเต้ถังจงจง ที่พระองค์จะต้องแก้ไขนั้นมีมากมาย ด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศไม่ค่อยดีนัก เริ่มตั้งแต่เงินในท้องพระคลัง ที่ร่อยหรอเกือบหมดคลัง ด้วยพระนางทรงใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายสร้างสิ่งต่างๆเป็นจำนวนมาก การฉ้อราษฎร์บังหลวงของพวกขุนนาง การขูดรีดภาษีที่สูงเกินเหตุ การเอาเปรียบโกงชาวนาเรื่องที่ดินทำกินที่คนรวยเท่านั้นมีที่ดินจำนวนมาก ขณะที่ชาวนายากจนลงไม่มีที่ทำกิน ต้องทิ้งไร่นาอพยพลงไปภาคใต้เป็นจำนวนมาก การซื้อยศขายตำแหน่ง การหนีไปบวชเพื่อไม่ต้องเสียภาษี นอกจากนี้เรื่องการทหารที่แต่เดิมเป็นทหารอาสา กลายเป็นทหารรับจ้างที่จ้างพวกชาวต่างชาติ หรือพวกเหลือขออันธพาลที่ไม่รับผิดชอบ การทหารอ่อนแอแถมกลายเป็นทหารอาชีพ ที่ทางการต้องเลี้ยงดูตลอดไป บางพวกก่อการกบฏที่ทางการต้องปราบปรามอย่างเด็ดขาด และการสงครามตามชายแดน ในสมัยราชวงศ์ถังกล่าวได้ว่า เป็นยุคของวรรณกรรมและจิตรกรรมที่เจริญรุ่งเรืองที่สุด โดยเฉพาะกวีนิพนธ์ที่พิมพ์แล้วมีกว่า ๔๘,๙๐๐ ชิ้น ในสมัยรัชกาลฮ่องเต้ถังหมิงหวง มีกวีที่มีชื่อเสียงมากคือ หลี่ไป๋ ( พ.ศ. ๑๒๔๔ ๑๓๐๕ )และตู้ฟู่ ( พ.ศ. ๑๒๕๕ ๑๓๑๓ ) ได้เข้ารับราชการและแต่งกวีพรรณนาสิ่งที่ได้พบเห็น ตามธรรมชาติภูเขาลำเนาไพร ตลอดจนการฉ้อโกงของพวกขุนนางทั้งหลาย เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความเสื่อมโทรมในสังคม ความยากจนของราษฎร ภัยจากสงครามที่มีผลกระทบต่อบ้านเมืองของตน คุณูปการอย่างหนึ่งคือ พระองค์ทรงก่อตั้งสถาบันฮั่นหลิน ซึ่งตั้งอยู่ในพระราชวัง โดยคัดเอานักศึกษาชั้นหัวกะทิที่สอบไล่ได้ที่หนึ่งผ่านระดับมณฑล เข้ามาสอบไล่แข่งขันกันในเมืองหลวง แล้วคัดเอาคนที่ได้คะแนนระดับแรกๆ เข้ามาเรียนการเป็นขุนนางที่ดี การเป็นอาลักษณ์นักจดหมายเหตุ การเป็นราชเลขา เป็นที่ปรึกษาของฮ่องเต้ หรือส่งไปเป็นข้าหลวงหัวเมืองเอก นักศึกษาเหล่านี้ จะบรรจุเป็นข้าราชการทันทีเมื่อเข้าเรียน มีตำแหน่งเป็นขุนนางชั้นต้น มีเงินเดือนและที่พักให้สุขสบาย สถาบันฮั่นหลินได้สืบมาทุกสมัยราชวงศ์ และเลิกไปเมื่อราชวงศ์ชิงล่มสลาย อีกสถาบันหนึ่ง ที่มีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อพวกเต้นกินรำกิน คือ สถาบันหลี่เอวี๋ยน หรือ หลี่หยวน หรือราชอุทยานสาลี่ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมืองฉางอาน ด้วยฮ่องเต้ถังหมิงหวงทรงโปรดปรานการดนตรี และการแสดงนาฏยการประเภทต่างๆ ทรงเชี่ยวชาญการดนตรีทุกประเภท โดยเฉพาะทรงขลุ่ยได้ไพเราะเพราะพริ้งมาก เมื่อเสด็จขึ้นเถลิงราชสมบัติแล้ว จึงทรงก่อตั้งสถาบันศิลปะการแสดงและดนตรีขึ้นเป็นการเฉพาะ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์จีน สาขาวิชาที่เปิดสอนคือ สาขาการดนตรีทุกชนิดของจีน สาขาการฟ้อนรำ สาขาการขับร้อง สาขาอุปรากรหรืองิ้ว ครูที่สอนใช้ผู้เชี่ยวชาญจากในพระราชวังและผู้เชี่ยวชาญภายนอก ส่วนนักเรียนคัดจากเด็กที่หน้าตาดีและมีคุณสมบัติพร้อมที่จะเรียนอายุตั้งแต่ ๗ ขวบขึ้นไปถึงประมาณ ๑๗ ปี นักเรียนเหล่านี้แสดงต่อหน้าพระที่นั่งหรือรับแขกเมือง ต่อมาได้ขยายไปแสดงตามหัวเมืองเอก ที่ตำหนักข้าหลวงท่านอ๋อง ตลอดจนหัวเมืองขึ้น พวกศิษย์เก่าจึงขยายไปทั่วประเทศ และต่างภูมิใจว่าเป็นศิษย์สถาบันหลี่เอวี๋ยนที่มีชื่อเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกแสดงงิ้ว ซึ่งแต่เดิมถือกันว่าเป็นอาชีพที่ต่ำสุด ตัวแสดงใช้คนภายในครอบครัว แล้วเร่ร่อนไปแสดงตามเมืองต่างๆหาเลี้ยงชีพไปวันๆ ด้วยพวกเศรษฐีหรือพวกขุนนางจ้างไปเล่นในงานของพวกเขา เมื่อฮ่องเต้ถังหมิงหวงทรงยกฐานะอาชีพการแสดงงิ้วให้สูงขึ้นเช่นนี้ พวกงิ้วทั้งหลายต่างถือว่าพระองค์ทรงเป็นบรมครูงิ้ว หรือเป็นเทพผู้เฒ่าแล้วเรียกขานพระองค์ว่า เล่าเอี๋ย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ดังนั้นคณะงิ้วทุกคณะทั่วประเทศ จึงต้องสักการะด้วยธูปเทียนของหอมแด่องค์ถังหมิงหวง ก่อนการแสดงทุกครั้ง อาจมีรูปแกะสลักหรือป้ายวิญญาณตั้งไว้ที่โรงงิ้ว และปฏิบัติกันเป็นประเพณีสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ตัวแสดงงิ้วบางคน อาจเคารพเทพเจ้าบางองค์เพิ่มเติมที่ตนแสดง เช่น กวนอู เล่าปี่ หลี่โลเชีย และขุนพลนายทหารผู้ยิ่งใหญ่สมัยสงครามระหว่างรัฐเช่น เหลียงปั๋ว หลินเซี่ยงยู่ จิงเค่อ เป็นต้น ในปีพ.ศ. ๑๒๘๕ เมื่อพระองค์ทรงมีพระชนมายุได้ ๕๗ พรรษา โปรดฯให้เปลี่ยนปีรัชกาลเป็น เทียนเป่าปีที่ ๑ ทรงศึกษาเกี่ยวกับลิทธิเต๋าเทพเจ้าองค์ต่างๆ ทรงนิพนธ์เรื่องราวเกี่ยวกับเทพเจ้า และทรงเข้าใจว่าทรงได้รับพระบัญชาจากสวรรค์ให้พระองค์มีฤทธิ์เดชเยี่ยงเทพเจ้า พระองค์จึงถือว่าทรงเป็นเทพเจ้าองค์หนึ่งที่ทรงมีพู่กันกับกระบี่เป็นอาวุธ แล้วทรงตั้งพระนามของพระองค์ว่า เป็นเทพเจ้าผู้ทรงปกป้องสวรรค์ หรือ เทียนฟู่เอวี๋ยนโช่ว หรือ เตี่ยนฮู้หงวนโส่ย หรือจอมพลผู้ครองสวรรค์ ซึ่งความคิดเหล่านี่น่าจะมาจากขุนนางผู้ใหญ่คนหนึ่งชื่อ จางจิ่วหลิง 张九龄 รองเจ้ากรมนิติบัญญัติ เป็นผู้กราบบังคมทูลให้พระองค์เสด็จออกไปประกอบพิธีบวงสรวงเทพเจ้ายังนอกเมืองหลวง ด้วยพระองค์ไม่ค่อยสนใจพิธีกรรมนี้ พระองค์ทรงเห็นด้วย ต่อมาจางโซ่ว 張說 กราบทูลให้เสด็จไปทรงประกอบพิธีที่ภูเขาไท่ซาน พระองค์จึงเสด็จพร้อมด้วยพวกขุนนางผู้ใหญ่ ออกไปประกอบพิธีบวงสรวงเทพเจ้าที่ภูเขาไท่ซาน เมื่อคณะงิ้วจากเมืองลั่วหยาง ซึ่งเป็นศิษย์ของสถาบันหลี่เอวี๋ยนไปแสดงที่เมืองซูโจว มณฑลเจียงซู ได้ไปพบเห็นพิธีกินผักของชาวซูโจว และได้ฟังเรื่องราวอภินิหารของเทพเจ้ากับเศรษฐีสร้างบ้านหลังใหม่ เมื่อกลับไปเมืองฉางอานจึงได้กราบบังคมทูลเล่าเรื่องเกี่ยวกับอภินิหารของเทพเจ้าองค์ดังกล่าว พร้อมกับพิธีกินผักเก้าวันเก้าคืนที่เมืองซูโจว พระองค์จึงทรงประมวลความคิดเพื่อเชื่อมโยงเกี่ยวกับพิธีกรรม จึงทรงเขียนเพิ่มเติมรายละเอียดคือ การอัญเชิญเทพเจ้าอวี้หวงซังตี้ หรือหยกอ๋องส่องเต่ ซึ่งเป็นเทพเจ้าที่กษัตริย์จีนได้สักการะมาหลายพันปีแล้ว รวมทั้งพระเจ้าแผ่นดินในสมัยโบราณเก้าพระองค์ ผู้ทรงมีคุณูปการต่อชาวจีนทุกด้าน ที่ได้มีการสอนและอ้างอิงในลัทธิขงจื่อมาตลอด การเชิญขุนพลนายทหารมารักษาการ การเลี้ยงขุนพลนายทหาร การสะเดาะเคราะห์ และการส่งเทพเจ้าตลอดจนขุนพลนายทหารกลับ เป็นต้น ฮ่องเต้ถังเสวียนจงทรงครองราชสมบัติได้ยาวนานที่สุด ในสมัยราชวงศ์ถัง คือ ๔๔ ปี ทรงเป็นผู้นำทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมจนได้ชื่อว่าเป็นยุคทองเจริญรุ่งเรืองที่สุดของราชวงศ์ถัง ทรงมีพระสนม ๓๐๐๐ คน ทรงมีโอรสและพระธิดา ๕๙ องค์ ทรงโปรดพระสนมเอกอู่ฮุ่ยเฟยมาก เมื่อนางถึงแก่อนิจกรรม พระองค์ทรงเศร้าโศก พวกขันทีจึงกราบทูลว่า หยางอี้หวน สิริโฉมงดงามหาใครเทียบได้ไม่ แต่เป็นชายาขององค์ชายโซ่วหวางโอรสที่ทรงโปรดปราน เมื่อนางได้เข้าเฝ้าถวายตัว จนพระองค์ทรงหลงใหล และพระราชทานนามเป็น หยางกุ้ยเฟย หรือพระสนมเอกแซ่หยาง เมื่อ พ.ศ. ๑๒๘๘ พระองค์ทรงหลงใหลนางมาก และมีรสนิยมตรงกัน แบบเข้ากันเป็นปี่เป็นขลุ่ย ทำให้พวกสกุลแซ่หยางต่างได้ดิบได้ดีเพราะนางเป็นจำนวนมาก เช่น หยางกว๋อจงได้เป็นอัครมหาเสนาบดี ระหว่างพ.ศ. ๑๒๙๓ ๑๒๙๗ เกิดภัยพิบัติต่างๆไม่ว่าน้ำท่วม พายุฝน บ้านเมืองแปรปรวน ความทุกข์ยากของพลเมืองจำนวนมาก การทหารในเมืองหลวงอ่อนแอยิ่งกว่าในสมัยใดเหตุการณ์ตามชายแดนเกิดการรุกราน ของพวกซี่ตัน ทางการส่งอันลู่ซานแม่ทัพต่างชาติ ที่เข้ามารับราชการในเมืองหลวงกลับพ่ายแพ้ และเขากลับก่อการกบฏเข้ายึดเมืองฉางอาน เมื่อ พ.ศ. ๑๒๙๙ ตั้งตนเป็นฮ่องเต้ต้าเอี้ยน ฮ่องเต้ถังเสวียนจงกับหยางกุ้ยเฟยจึงอพยพไปมณฑลเสฉวน โดยมีทหารองครักษ์ติดตามเมื่อไปถึงเมืองหม่าเว่ย เขตมณฑลส่านซี พวกทหารองครักษ์จึงจับหยางกว๋อจงฆ่าเสีย แล้วบังคับให้ฮ่องเต้ถังเสวียนจงฆ่าพระสนมหยางกุ้ยเฟย เพราะถือว่าเป็นตัวกาลีบ้านกาลีเมืองทำให้ชาติต้องล่มจมเพราะนาง พระองค์จึงทรงต้อง จำเป็นต้องฆ่าคนรักให้ตักษัยด้วยการพระราชทานผ้าแพรไหม ให้นางผูกคอตาย หลังจากพระนางถึงแก่อนิจกรรม พระองค์ทรงเศร้าโศกเสียพระทัย ด้วยความรักอันอมตะของพระองค์ ทรงให้พ่อมดหมอผีเข้าทรงเพื่อตรัสกับวิญญาณของนาง ในที่สุดพระองค์ก็สละราชสมบัติให้โอรสคือ หลี่เฮิง ขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า ฮ่องเต้ถังซู่จง เมื่อ พ.ศ. ๑๒๙๙ ฮ่องเต้ถังเสวียนจงทรงเสียพระทัยเป็นเวลายาวนาน ในพ.ศ. ๑๓๐๕ ก็เสด็จสวรรคต เมื่อพระชนมายุได้ ๗๗ พรรษา บรรดาคณะงิ้วต่างแกะสลักรูปของพระองค์ไว้บูชา ประจำโรงงิ้วในฐานะที่เป็น พระครูงิ้วของพวกตน น่าสังเกตว่ารูปที่แกะสลักพระพักตร์จะหล่อคล้ายเด็กและทรงไว้หางเปีย เป็นปริศนา ซึ่งอาจจะเป็นสัญลักษณ์ของพวกแมนจูคนต่างชาติ เพราะราชสกุลแซ่หลี่สืบเชื้อสายมาจากคนต่างชาติ หรืออาจจะเติมสมัยฮ่องเต้เฉียนหลง ราชวงศ์ชิงชาวแมนจูที่ทรงโปรดฯงิ้วให้ไปแสดงการแข่งขันที่ปักกิ่ง ชาวงิ้วจึงเติมหางเปียไว้เป็นสัญลักษณ์เพื่อความสะดวกในทางการเมืองสมัยนั้นก็ได้ ส่วนพระบาทซ้ายที่ทรงเหยียบไก่น่าจะหมายถึงปีที่ประสูติคือปีไก่ จึงน่าจะประสูติในปีพ.ศ. ๑๒๒๖ เพราะตรงกับปีไก่ของจีน ส่วนพระบาทขวาทรงเหยียบสุนัข น่าจะหมายถึงปีเสด็จสวรรคต คือปีสุนัข ตรงกับพ.ศ. ๑๓๐๔ รวมพระชนมายุได้ ๗๘ พรรษา แต่ถ้านับเอาตามข้อมูลที่มีเขียนกันไว้ต่อๆมาแต่เดิมคือ ประสูติพ.ศ. ๑๒๒๘ เป็นปีกุนหรือปีหมู และเสด็จสวรรคตปีพ.ศ. ๑๓๐๕ คือปีกุนเช่นเดียวกันตามปฏิทินจีน รวมพระชนมายุ ๗๗ พรรษาดังกล่าวแล้ว
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๑
Title : Emperor Xuan Zong of Tang
: Somboon Kantakian
Credits : Somboon Kantakian 12 /05/2008
|
|
|