|
จ้าวกงหมิง 趙公明
ไฉเสิน 财神 หรือ ไช่ซิงเอี้ย เป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภและความร่ำรวยมั่งมีศรีสุข ซึ่งเป็นที่ปรารถนาของคนทุกหมู่เหล่าเชื้อชาติ ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ ชาวจีนตามท้องถิ่นต่างๆจึงพยายามหาเทพเจ้าที่จะสามารถดลบันดาลให้พวกตนได้ร่ำรวยอายุยืนนานกว่าปกติ ดังนั้นไฉเสินจึงปรากฏว่ามีหลายองค์หลายยุคสมัย ได้แบ่งเป็นไฉเสินฝ่ายบุ๋นที่เรียกว่า เหวินไฉเสิน เช่น ปิกันกงในสมัยราชวงศ์ซัง หรือ ลกฮกซิ่ว เป็นต้น ฝ่ายบู๊ หรือ ฝ่ายอู่ไฉเสิน เช่น เตียวกงเบ๋ง หรือ จ้าวกงหมิง 趙公明 ซึ่งคนส่วนใหญ่นับถือกันมาก จะเห็นรูปทรงชุดทหารนายพล มือขวาถือกระบองเหล็กเป็นข้อๆ มือซ้ายถือก้อนเงินทองคำ ขี่เสือดำ หรือปัจจุบันมักเห็นขี่เสือโคร่งหรือเสือดาว เตียวกงเบ๋ง เดิมชื่อ เสียนกวน แซ่เตียหรือ แซ่จ้าว เป็น จ้าวกงหมิง มีพี่น้องรวมสี่คน เตียวกงเบ๋งเป็นพี่ใหญ่ น้องสาวอีกสามคน คือ น้องสาวคนที่หนึ่งชื่อ จ้าวเมิ่งปั๋วเหนียงเหนียง หรือ เตียหุนเสียวเนียวเหนียว คนที่สองชื่อ จ้าวผางเฉอเหนียงเหนียง หรือ เตียเพกเสียวเนียวเหนียว คนสุดท้องชื่อ จ้าวกงเต๋อเหนียงเหนียง หรือ เตียเกงเสียวเนียวเหนียว ทั้งสี่คนพี่น้องต่างบำเพ็ญพรตมาเป็นเวลานาน จวนจะได้เป็นเซียนอยู่แล้ว แต่ชีวิตบาปเคราะห์กรรมเก่ายังมี จึงได้หันเหไปสิ้น จ้าวกงหมิง อยู่สำนักถ้ำหลงฟู่ตง ภูเขาเอ่อเหมยซาน ส่วนสามพี่น้องอาศัยอยู่ในถ้ำบนเกาะซำเซียนซู จ้าวกงหมิงเป็นเพื่อนกับบุนไท่สือ หรือ เหวินจ้ง นายพลทหารแม่ทัพใหญ่ ของพระเจ้าซังโจ้วหวางแห่งราชวงศ์ซัง ประมาณก่อน ค.ศ. ๑๐๒๘ พระองค์ไม่ทรงตั้งอยู่ในความยุติธรรม ทรงโหดร้ายทารุณต่อขุนนางผู้ใหญ่และราษฎร บรรดาหัวเมืองใหญ่น้อยต่างพากันแข็งเมือง พระองค์จึงทรงส่งเหวินจ้งไปปราบ ซึ่งใช้เวลากว่าสิบห้าปีก็ยังไม่สงบ ฝ่ายจีฉางเจ้าเมืองซีกี พระเจ้าโจ้วหวางโปรดฯให้เป็น เหวินหวางแห่งเมืองซีกี แต่พวกขุนนางและจีฟาบุตรชายต่างเตรียมกองทัพเพื่อตั้งตนเป็นใหญ่ ตามคำทำนายของเซียนว่า พญาหงส์กำเนิดแต่เขากีซาน เมืองซีกีจึงแข็งเมือง พระเจ้าโจ้วหวางจึงส่งกองทัพไปปราบ ศึกติดพันกัน ต่างสูญเสียรี้พล พระเจ้าโจ้วหวางจึงทรงให้เหวินจ้งเป็นแม่ทัพใหญ่ยกไปปราบเมืองซีกี แต่ก็สู้ไม่ได้ เพราะเมืองซีกีเป็นที่รวมของขุนพลนักรบที่มีฝีมือและเซียนหลายองค์ให้ความช่วยเหลือ เหวินจ้งจึงไปตามจ้าวกงหมิงที่เขาเอ่อเหมยซานให้มาช่วย ฝ่ายจ้าวกงหมิงจึงเดินทางไปสนามรบ ขณะมาตามทางเจอเสือโคร่งขนาดใหญ่จึงร่ายมนตร์เอามาเป็นพาหนะขี่ไปเมืองซีกี ได้สู้รบกับกองทัพของเจียงจื่อหยาแม่ทัพใหญ่หลายครั้ง ปรากฏว่าจ้าวกงหมิงชนะเกือบตลอด แต่ถูกโจโปใช้วิชาเวทมนตร์เรียกอาวุธวิเศษของตนไปสองอย่าง ตนจึงไปเกาะซำเซียนหาน้องสาวเพื่อยืมอาวุธวิเศษ ข้างน้องสาวคนโตคือ จ้าวเมิ่งปั๋วเหนียงเหนียงห้ามปรามอย่าได้ไปข้องแวะกับพระเจ้าโจ้งหวางตามที่อาจารย์ได้สั่งไว้ก่อนนานแล้ว แต่ไม่อยากขัดใจพี่ชายจึงให้ยืมกรรไกรทองวิเศษอย่างเดียว เมื่อกลับถึงกองทัพ ปรากฏว่าตนมีอาการเกิดขึ้น เพราะถูกฝ่ายเจียงจื่อหยาใช้ผูกยนต์แทงรูปหุ่นด้วยดอกศร มรมานอยู่ ๒๑ วันก็ตาย เมื่อน้องสาวสามคนรู้เรื่องจึงเดินทางมาที่กองทัพของพระเจ้าโจวอู่หวาง เข้าสู้รบ แต่ถูกอาจารย์เต้าหยินฆ่าตายหมด ภายหลังจากเสร็จสิ้นสงคราม เอวี๋ยนสื่อเทียนจวินจึงมอบให้เจียงไท่กงหรือ เจียงจื่อหยา ประกอบพิธีเรียกวิญญาณผู้ตายที่มีรายชื่ออยู่ในเฟิงเสินเอี่ยนอี้ หรือเฟิงเสินปัง รวม ๓๖๕ คนทั้งสองฝ่าย เข้ามารับรางวัลและถูกลงโทษ ฝ่ายที่อยู่ข้างพระเจ้าซังโจ้งหวางถือว่าเป็นผู้ที่มีความกตัญญูซื่อสัตย์ต่อเจ้านาย ส่วนฝ่ายพระเจ้าโจวอู่หวางเมืองซีก็ ถือว่าเป็นผู้ที่มีความกตัญญูต่อเจ้านายและมีความซื่อสัตย์ต่อแผ่นดิน ข้างจ้าวกงหมิงและนายทหารอีกสี่คน คือ ไท่เสียงเสงหรือ เซียวเซิน๑ โจโปหรือเชาเป่า๑ เตียวอิวเบ๋งหรือจางจิ่วกง๑ และเอียวหนี่อ๊กหรือเอี๋ยงเส้าซี ต่างก็ได้รับตำแหน่งคือ จ้าวกงหมิงหรือ เตียวกงเบ๋ง เป็น จินหลงหยูอี้เจินอิหลงหู่เสี้ยนถานเจินจวิน เซียวเซิน เป็น ไฉเป่าเทียนจวิน เชาเป่า เป็น น่อเจินเทียนจวิน จางจิ่วกง เป็น จ้าวไฉไส้เจี่ย เอี๋ยงเส้าซี เป็น หลี่ซีเซวียนกวน เทพเจ้าทั้งห้าองค์ให้ประจำอยู่ทางทิศเหนือ หรือ เรียกว่า เป่ยเสิน มีหน้าที่ เป็นผู้รักษาของวิเศษของแผ่นดิน ได้แก่ ทองคำ เงิน ทรัพยากรธรรมชาติทั้งมวลที่อยู่ใต้ดินและบนดินใต้น้ำ ทรงเป็นผู้ตรวจตราดูแลโลก ในส่วนที่เกี่ยวกับมนุษย์ หากผู้ใดประกอบคุณงามความดี มีความซื่อสัตย์สุจริต กตัญญู มีความเที่ยงธรรมยุติธรรม มีจริยธรรม มีคุณธรรม ก็ให้พรส่งเสริมพวกเขาเหล่านั้น แต่ถ้าหากผู้ใดไม่มีความสัตย์ซื่อคดโกงฉ้อราษฎร์บังหลวง เอารัดเอาเปรียบลูกค้าและไม่มีความยุติธรรม ทำให้ประชาราษฎรหรือญาติพี่น้องเดือดร้อน จงทำโทษคนเหล่านั้น นอกจากนี้ยังอำนวยอวยโชคให้ลาภ พวกลาภลอย ลาภจร ทรงควบคุมการคลังการเงิน ทรงเป็นเทพเจ้าอวยให้บรรดานักธุรกิจการค้าต่างๆได้ประสบผลสำเร็จหรือล้มเหลวขึ้นอยู่กับความประพฤติของแต่ละคน ทรงเป็นเทพเจ้าที่อวยให้กับข้าราชการ วิสาหกิจ มียศฐาบันดาศักดิ์เจริญรุ่งเรืองหรือล้มเหลวขึ้นอยู่กับความประพฤติของพวกเขา
รูปจ้าวกงหมิงที่จิตรกร ช่างแกะสลัก ช่างปั้น ได้สรรสร้างขึ้นมานั้น ส่วนใหญ่สวมชุดนายพลทหาร ใบหน้ามีหนวดเครารุงรังคล้าย เตียวหุย หรือ จางเฟย มือขวาถือกระบองเหล็กเป็นข้อๆ ส่วนมือซ้ายถือก้อนเงินทองคำ ขี่เสือดำ แต่ภาพปัจจุบันขี่เสือโคร่งหรือเสือดาว
กล่าวกันว่า ในวันที่ ๑ ค่ำ เดือน ๑ จ้าวกงหมิงได้เสด็จขึ้นสวรรค์เพื่อเยี่ยมเยือนบรรดาเทพเจ้าทั้งหลาย จนถึงวันที่ ๕ ค่ำ เดือน ๑ จึงเสด็จกลับจากสวรรค์พร้อมกับทรงนำโชคลาภแก้วแหวนเงินทองลงมาด้วย บางตำนานถือว่า วันนี้เป็นวันคล้ายวันประสูติของพระองค์ด้วย การเซ่นไหว้จ้าวกงหมิง ในวันที่ ๕ ค่ำ เดือน ๑ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ เวลาฤกษ์ที่เหมาะคือ ช่วงเวลา ๒๓.๐๐ ๒๔.๕๙ นาฬิกา โดยตั้งโต๊ะกลางแจ้ง ของที่จะนำมาไหว้ได้แก่ น้ำชา ปลามีหัวมีหาง ๓ ชนิด ผลไม้ ๓/๕/๗ ชนิดตามศรัทธา ขนมเต่เหลี่ยว ของหอม ธูปเทียน และประทัด แต่บางท้องถิ่นในสมัยราชวงศ์หมิงเป็นต้นมาได้มีการนับถือไฉเสินที่เชื่อกันว่าเป็นชาวมุสลิมอาจจะเป็นนายพลเจิ้งเหอหรือผู้ติดตามก็ได้ จึงมีการนำเอาเนื้อวัว เนื้อควาย เนื้อแกะหรือแพะมาไหว้ และหลีกเลี่ยงเนื้อหมู ชาวภูเก็ตฮกเกี้ยนจะไม่มีการไหว้เทพเจ้าองค์นี้ในวันดังกล่าว เพราะได้ถือว่าได้ไหว้เทพเจ้าเสด็จกลับจากสวรรค์ในวันที่ ๔ ค่ำ เดือน ๑ ไปแล้ว แต่สมัยปัจจุบันอาจจะเปลี่ยนไป เพราะมีคนหลายภาษาเข้ามาทำมาหากิน จึงมีความต่าง
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๒๗ มกราคม ๒๕๕๑
ภาพประกอบ จาก กูเกิ้ล ***
|
|
|