|
เหวินเทียนเสียง 文天祥
เหวินเทียนเสียง หรือ บุ๋นเทียนเสียง 文天祥 หรือ ลู่หลิงจวินกง 庐 陵军公 ผู้เป็นหนึ่งในสามวีรบุรุษแห่งราชวงศ์ซ่งใต้ 宋末 三 杰 หรือเป็นที่รู้จักในชื่อว่า ไต่ซ้องซำตองอ๋อง 大宋三忠王 ส่วนอีกสองท่านคือ เตียวเส้เก๊กหรือ จางซื่อเจ๊ะ 張世傑 และลกสิ่วฮู่ หรือ ลู่เชี่ยวฟุ 陆秀夫 เหวินเทียนเสียงถือกำเนิดเมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๑๗๗๙ ปีวอก ที่ตำบลลู่หลิง หรือเมืองจี๋อ้านในปัจจุบัน มณฑลเจียงซี ตรงกับรัชสมัยฮ่องเต้ซ่งหลี่กง ( จ้าวหยุนอวิ๋น ) ในปีรัชกาลตวนผิงที่ ๓ แห่งราชวงศ์ซ่งใต้ ครอบครัวของเหวินมีฐานะดี เขาจึงได้รับการศึกษาตั้งแต่วัยเด็ก ประกอบกับมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดเป็นเลิศ จึงเรียนเขียนหนังสือได้รวดเร็วเป็นพิเศษ บิดาได้ให้เขาไปเข้าเรียนที่โรงเรียนในเมือง ภายในอาคารเรียนมีรูปกลุ่มนักการศึกษา ปัญญาชน นักรบวีรบุรุษผู้ต่อต้านราชวงศ์จินที่รุกรานจีน พร้อมประวัติของแต่ละท่านให้นักเรียนได้อ่าน ทำให้เหวินชอบประวัติของโอวหยางซิ่วนักการศึกษาผู้มีชื่อเสียง ประวัติเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจให้เหวินใฝ่ฝันว่า สักวันหนึ่งเขาจะเป็นเยี่ยงวีรบุรุษเหล่านั้นให้ได้ เหวินเรียนจบหลักสูตร เมื่ออายุเพียง ๑๗ ปี ในปีพ.ศ. ๑๗๙๗ เขาจึงเดินทางไปสมัครสอบเข้ารับราชการในระดับอำเภอ ซึ่งเป็นขั้นต้นของการสอบ เขาสอบได้ในระดับ เซิงหยวน หรือ ซิวจ๋าย เหวินจึงสอบผ่านอย่างสบาย เหวินจึงเดินทางเข้าเมืองหลวงหลินอาน หรือเมืองหางโจวในปัจจุบัน เขาสมัครเข้าเรียนที่สถาบันแห่งหนึ่ง เพื่อติววิชาที่จะเข้าสอบในระดับเมืองหลวง เมื่อทางการเปิดสอบเขาสมัครสอบและสอบได้ในระดับ คงซื่อ 貢士 เมื่อพ.ศ. ๑๗๙๙ ผู้ที่สอบได้ในระดับนี้สามารถสมัครเข้าสอบในระดับราชสำนักต่อหน้าพระพักตร์ฮ่องเต้ได้ด้วย ในปีเดียวกันนี้ เหวินสมัครสอบต่อหน้าพระที่นั่ง ฮ่องเต้จะทรงคัดเองโดยทรงทอดพระเนตรเรียงความจากกระทู้ที่ทรงตั้ง ทรงสัมภาษณ์ความคิดเห็น แล้วจะคัดไว้ไม่เกิน ๑๐ คนหรือน้อยกว่า การสอบระดับนี้ผู้ที่สอบผ่านได้เรียกว่า จิ้นซื่อ หรือจินสือ ผู้ได้คะแนนสูงสุดรับตำแหน่งคือ จอหงวน รองคนที่หนึ่งเรียก ป๋างเอี้ยนหรือป๋าอั้น อันดับสามเรียก ทันฮั้วหรือทัมฮวย แล้วเอาสามคนแรกไว้ที่สถาบันฮั่นหลิน ส่วนที่เหลือส่งไปรับตำแหน่งตามหัวเมืองใหญ่ ปรากฏว่า เหวินสอบได้ในระดับ จอหงวน เหวินจึงเข้ารับราชการในสถาบันฮั่นหลินและราชสำนักตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ภายในราชสำนักซ่งใต้ เหวินจึงเริ่มเรียนรู้ถึงกลุ่มพวกขุนนางชั้นสูงทั้งพวกกังฉินและตงฉิน ทั้งฝ่ายทหาร พลเรือน พระราชวงศ์ ตลอดจนพวกขันทีในวัง แต่ด้วยนิสัยที่เป็นคนซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อราชวงศ์ซ่ง ทำให้เขาต้องคัดค้านโต้แย้งในการบริหารราชการแผ่นดิน ของขุนนางผู้ใหญ่ แน่นอน ทำให้ขุนนางผู้ใหญ่หลายคนไม่ชอบหน้าเขา เพราะไปขัดผลประโยชน์ส่วนตัวของพวกเขา แต่อย่างไรก็ตาม เขาก็ได้รับตำแหน่งให้สูงขึ้นตามลำดับ จนได้เป็น เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม เกี่ยวกับชีวิตครอบครัวของเหวิน มารดาเหวินเป็นคนแซ่หลิว ภรรยาแซ่โอวหยาง มีบุตรสาว ๒ คน บุตรชาย ๒ คน แต่บุตรชายทั้งสองได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเยาว์ บางตำนานว่าถูกฆาตกรรม เหวินจึงขอบุตรชายของน้องชายมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม รวม ๓ คน ในระหว่างนั้นอยู่ในช่วงปลายของราชวงศ์ซ่งใต้ แผ่นดินจีนแบ่งเป็นสามก๊ก คือ อาณาจักรซ่งใต้ อาณาจักรจินหรือกิมก๊กที่พวกแมนจูปกครอง และอาณาจักรหยวน ฝ่ายมองโกลแห่งอาณาจักรหยวนพยายามปราบอาณาจักรกิมก๊ก โดยใชเวลาหลายปีจนยึดอาณาจักรนี้ได้ ด้วยความร่วมมือกับอาณาจักรซ่งใต้ แต่มองโกลมิได้หยุดอยู่แค่นั้น พยายามกลืนซ่งใต้ ในขณะเดียวกัน บริเวณชายแดนซ่งกับมองโกล พวกทหารทั้งสองฝ่ายปะทะกันบ่อยขึ้น ฝ่ายราชวงศ์ซ่งใต้มีแต่ความอ่อนแอ พวกขุนนางกังฉินและพวกขันทีครองเมือง เมื่อมองโกลเตรียมยกทัพเข้าซ่ง พวกเกรงกลัวอำนาจมองโกล พยายามให้ฮ่องเต้และขุนนางผู้ใหญ่ยอมอ่อนน้อม ด้วยการทำสัญญาสันติภาพเป็นไมตรีต่อกัน ผู้มีอิทธิพลในเมืองหลวงที่ครอบงำฮ่องเต้ คือ นายพลเจี่ยซื่อเต้า๑ อัครมหาเสนาบดีฝ่ายทหาร ที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งด้วยเส้นสายในราชสำนัก คือ พระสนมเอกพระนางเจี่ย น้องสาวของตน แต่ไม่มีความรู้ความสามารถและสติปัญญาดีพอที่จะจัดการบ้านเมือง กลับเกรงกลัวข้าศึก เขาจึงอาสาไปทำสัญญาแบบยกอาณาจักรซ่งใต้ให้เป็นเมืองขึ้นมองโกล แถมยังเป็นไส้ศึกอีกด้วย เขายังได้ร่วมมือกับพวกขันที ปิดพระเนตรพระกรรณฮ่องเต้ซ่งตู้กง แล้วช่วยกันบำรุงบำเรอฮ่องเต้ด้วยนางสนมวันละ ๓๐ นาง ถึงแม้ฮ่องเต้จะทรงมีความคิด แต่พวกขันทีตาสับปะรด พระองค์จึงไม่สามารถติดต่อใครได้ เพราะคนในวังเป็นพวกของเจี่ยจื่อเต้าทั้งสิ้น ฝ่ายเหวินจึงเริ่มต้านคนกลุ่มนี้ เมื่อขันทีตงซ่งเฉินเสนอให้ย้ายเมืองหลวงหนีข้าศึก เขาจึงทำหนังสือให้ตัดศีรษะขันทีผู้นั้นเสีย แต่สิ่งที่เขาได้รับคือ ถูกลดตำแหน่งและถูกสั่งย้ายไปประจำเมืองลู่หลิง แล้วย้ายต่อไปยังเมืองก้านโจวที่มณฑลเจียงซี อยู่ได้ระยะหนึ่งก็ต้องถูกย้ายเข้าเมืองหลวงตามเดิม ฝ่ายมองโกลจึงส่งทูตมายังเมืองหลวงหลินอาน แต่ถูกนายพลเจี่ยกีดกัน ไม่ยอมให้เข้าพบ ไม่เลี้ยงดูทูต แล้วในที่สุด มองโกลก็ฉีกสัญญาทิ้ง กรีฑาทัพใหญ่ลงใต้เพื่อยึดเมืองหลักสองเมืองให้ได้ คือเมืองเซียงหยางกับเมืองฟ่านเฉิงบริเวแม่น้ำฮั่นที่ไหลบรรจบแม่น้ำแยงซีเกียงที่เมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นประตูสู่เมืองหลวง แม่ทัพมองโกลเป็นชาวตุรกีชื่อ นายพลป๋อเอี๋ยน เขาล้อมเมืองอยู่ถึง ๖ ปี แล้วใช้กลอุบายยุยงนายพลเจี่ย จนนายพลเจี่ยปลดแม่ทัพหลี่เทียนจื่อผู้รักษาเมืองทั้งสองเสีย รวมทั้งนายพลหลิวเจิ้งที่ตีตัวออกหากเข้าข้างมองโกลบอกวิธีการให้ได้เมืองหลินอาน ฝ่ายในราชสำนัก จึงให้ขุนนางผู้ใหญ่ไปเกณฑ์ทหารมารบ ปรากฏว่ามี เหวินคนเดียวที่ทำ เขายอมขายสมบัติเอาเงินมาใช้จ่าย เขาได้คนมา ๓๐๐๐ คนเศษ เพื่อนคนหนึ่งถามเขาทำไปทำไม จะไปสู้ทัพยิ่งใหญ่ของมองโกลได้อย่างไรกัน เขาตอบว่าทำเพื่อชาติ ทัพของเขาได้รับคำสั่งให้ไปรักษาเมืองซูโจว เมืองหน้าด่าน ฝ่ายนายพลเจี่ยซื่อเต้าจำใจต้องยอมยกทัพด้วยรี้พลแสนสามหมื่นไปตั้งทัพสู้ข้าศึกนอกเมืองหลวงบริเวณเมืองนานกิงและซูโจว จนเขาแพ้ย่อยยับ จนถูกปลดออกทุกตำแหน่ง เนรเทศไปอยู่เมืองกว่างตง และถูกฆ่าตายขณะเดินทางจากฝีมือนายทหารลูกน้องเขา ในปีพ.ศ. ๑๘๑๘ ฮ่องเต้กุไบลข่านจึงทรงสั่งให้แม่ทัพป๋อเอี๋ยน ยกเข้าตีเมืองหลินอานเมืองหลวง ด้วยกำลังพลสองแสน แต่ฮ่องเต้ซ่งตู้กงเกิดเสด็จสวรรคตกระทันหัน พวกขุนนางผู้ใหญ่เกิดแตกเป็น ๒ ความคิด คือ ยอมแพ้มองโกล ทำสัญญาสงบศึก อีกฝ่ายต้องการสู้กับมองโกลจนถึงที่สุด ฝ่ายภายในราชสำนัก พระนางเจี่ยไท่โฮ่ว กับพระนางเฉวียนไท่โฮ่ว จึงทรงยกองค์ชายจ้าวเสี่ยนอายุ ๔ พรรษาขึ้นเป็นฮ่องเต้ซ่งกงตี้ พระนางเจี่ยไท่โฮ่วผู้เป็นย่าของฮ่องเต้ จึงทรงส่งเหวินเทียนเสียงให้เป็นทูตไปเจรจาสงบศึก ที่ค่ายป๋อเอี๋ยนซึ่งอยู่ห่างจากหลินอานประมาณ ๑๕ กิโลเมตร ทั้งสองเกิดปะทะคารมกันขึ้น เมื่อเหวินถามแม่ทัพว่า มองโกลจะเป็นมิตรกับซ่งหรือทำลายซ่ง ข้างนายพลตอบว่า มองโกลไม่ได้ตั้งใจมายึดซ่ง เหวินจึงว่า ถ้าอย่างนั้นมองโกลควรถอยทัพกลับแล้วมาทำสัญญาไมตรีกัน แต่นายพลไม่ตอบ กลับกล่าวว่า ซ่งจะต้องยอมแพ้เท่านั้น เหวินจึงว่า เขาเป็นนักการศึกษาจะยอมตายเพื่อชาติ เมื่อซ่งอยู่เขาอยู่ เมื่อซ่งล่มเขายอมตาย นายพลจึงกักเขาไว้ ปล่อยให้ผู้ติดตามไปส่งข่าวที่เมืองหลวง พระนางเจี่ยไท่โฮ่วจึงทรงทูตคนใหม่ไป นายพลยอมรับ ทำสัญญาสงบศึก กับนายพลป๋อเอี๋ยน โดยราชวงศ์ซ่งต้องส่งราชบรรณาการทุกปี แต่นายพลป๋อเอี๋ยนไม่ยอม พระนางจึงทรงส่งตราหยกแผ่นดินไปให้ เขาจึงยอม กองทัพมองโกลจึงยกเข้าเมืองหลินอานได้สะดวก อย่างไรก็ตามพวกขุนนางผู้ใหญ่ที่ต่อต้าน คือ เหวินเทียนเสียง นายพลจางซื่อเจ๊ะ และลู่เชี่ยวฟุ ก่อนที่ข้าศึกจะเข้าเมืองหลวง นายพลจางซื่อเจ๊ะกับลู่เชี่ยวฟุ จึงพาองค์ชายน้อย ๒ องค์ คือ องค์ชายจ้าวซื่อพระเชษฐากับองค์ชายจ้าวปิ่ง โอรสของพระสนมเอกหยาง พากันหนีลงใต้ไปยังมณฑลฝูเจี้ยนหรือฮกเกี้ยน เมื่อทัพเข้าเมืองหลวง นายพลป๋อเอี๋ยนจึงเข้าควบคุมฮ่องเต้ซ่งกงตี้ พระนางเจี่ยไท่โฮ่ว พระนางเฉวียนไท่โฮ่ว พร้อมพระราชวงศ์ รวมทั้งเหวินเทียนเสียง แล้วควบคุมส่งไปยังมองโกล ฮ่องเต้กุไบลข่านจึงทรงปลดตำแหน่งฮ่องเต้เป็น กง แล้วเนรเทศทั้งสามองค์ไปอยู่ธิเบต๒ ฝ่ายเหวิน เมื่อขบวนเชลยศึกมาถึงเมืองเจินเจียง เขาหนีรอดไปได้ เขาจึงหนีเล็ดรอดไปจนถึงเมืองเจิ้นโจว โดยได้รับความช่วยเหลือจากชาวนา เขาจึงเดินทางไปยังเมืองฝูโจว ที่ฝูเจี้ยน ฝ่ายจางซื่อเจ๊ะกับลู่เชี่ยวฟุ เมื่อนำเสด็จองค์ชายน้อยทั้งสององค์มาถึงเมืองฝูโจว แล้วสถาปนาองค์ชายจ้าวซื่อ เป็นฮ่องเต้ซ่งตวนจง ด้วยพระชนม์ ๘ พรรษา มีเฉินอี้จง กับ หลี่ตงจื่อเป็นอัครมหาเสนาบดีซ้ายขวา นายพลจางซื่อเจ๊ะเป็นผู้ช่วยฝ่ายทหาร ส่วนลูเชี่ยวฟุเป็นผู้ช่วยฝ่ายพลเรือน ตั้งเมืองหลวงที่ฝูโจว เมื่อเหวินเดินทางมาถึงฝูโจว เขาแนะนำเฉินอี้จงให้ย้ายเมืองหลวงไปที่เจ้อเจียง แต่เฉินไม่เห็นด้วย เหวินจึงเดินทางไปเมืองหนานผิง ทำการระดมผู้คนผู้รักชาติที่ต่อต้านราชวงศ์หยวนมองโกล เขารวบรวมคนได้หลายหมื่น จัดเป็นกองทัพ ฝึกปรือให้เข้มแข็ง สร้างเป็นกองโจรคอยตีกองกำลังมองโกล จนได้รับชัยชนะหลายครั้ง เขาจึงขยายอิทธิพลไปยังมณฑลหูหนาน เจียงซี รวบรวมเรือรบและผู้คนเพื่อจะยกไปสมทบกับกองทัพหลวง ฝ่ายฮ่องเต้กุไบลข่านทรงส่งแม่ทัพยกไปตีเมืองฝูโจว กองทัพซ่งสู้ไม่ได้ จึงนำเสด็จฮ่องเต้ไปเมืองเฉวียนโจว จางซื่อเจ๊ะขอยืมเรือจากฟูโซ่วเกิงชาวมุสลิม แต่ไม่ได้ จางจึงจำต้องยึดเรือไปหลายลำ ฟูโซ่วเกิงจึงจับพระราชวงศ์และผู้ติดตามฆ่าหลายคน จางจึงนำเสด็จไปเกาลูน ฮ่องกง ฮ่องเต้ทรงคิดมาก จึงทรงกระโดดลงทะเลฆ่าตัวพระองค์ แต่ได้รับการช่วยเหลือขึ้นมาได้ด้วยพระอาการสาหัส จึงเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๑๘๒๑ พวกขุนนางจึงยกองค์ชายจ้าวปิ่ง พระอนุชาขึ้นเป็นฮ่องเต้ซ่งเว่ยหวางหรือซ่งตี้ปิ่ง ด้วยพระชนม์เพียง ๘ พรรษา แล้วนำเสด็จมาประทับที่บนยอดเขาหยาซาน ฝ่ายเหวินเทียนเสียงไปประจำรักษาการอยู่บนเขาอู่พัวหลิ่ง ซึ่งอยู่ทางเหนือเมืองไห่เฟิง กว่างตง ในปลายปีพ.ศ. ๑๘๒๑ ฮ่องเต้กุไบลข่านจึงทรงตั้งนายพลหลี่เหิงยกทัพใหญ่ลงไปปราบ กองทัพของเหวินกับกองทัพมองโกลเกิดปะทะสู้รบกันหลายครั้ง จนภรรยาและที่ปรึกษาของเหวินถูกจับได้ ประกอบกับทัพของมองโกลล้อมภูเขาตัดเสบียงอาหาร แล้วรุกคืบขึ้นไปค่ายที่พักบนยอดเขา ในที่สุดเหวินเทียนเสียงถูกจับได้ในปลายปีพ. ศ. ๑๘๒๑ ถูกควบคุมตัวไปยังกรุงปักกิ่งเมืองหลวงราชวงศ์หยวน เมื่อไปถึงกรุงปักกิ่ง ฮ่องเต้กุไบลข่านทรงพยายามกล่อมเขาให้สวามิภักดิ์ แล้วจะทรงแต่งตั้งให้เป็นอัครมหาเสนาบดี โดยเขาจะต้องไปกล่อมพวกที่ต่อต้านมองโกลให้ยอมเข้ากับมองโกล เขาปฏิเสธ เขาจึงถูกส่งตัวเข้าอยู่ในคุก เป็นเวลาสามปีเศษ ในขณะที่อยู่ในคุก มีบุตรสาวไปเยี่ยมพร้อมหาเครื่องเขียนไปให้ด้วย เขาจึงบันทึกเหตุการณ์เป็นบทกวีนิพนธ์ไว้หลายเรื่องเช่น บทเพลงแห่งความชอบธรรม ชี้ไปทักษิณ หนีจากจิงโจว ออกจากเจิ้นโจว ถึงหยางโจว เป็นต้น ต่อมาฮ่องเต้กุไบลข่าน ทรงอยากได้ผู้ที่จะไปแก้เหตุการณ์เรื่องการปกครองท้องถิ่นแห่งหนึ่ง เพื่อนเก่าของเขาจึงกราบทูลว่า เหวินคนเดียวที่จะแก้ได้ ฮ่องเต้จึงรับสั่งให้ถอดเหวินออกจากคุก ให้ไปถูกกักบริเวณที่บ้านหลังหนึ่งที่โอ่โถงมีความพร้อมทุกอย่าง ดนตรี คนรับใช้ เพื่อให้เขาสบายใจ ทรงคิดว่าเขาคงเปลี่ยนใจ ด้วยออกจากคุกแล้วมาอยู่บ้านหลวง พร้อมตำแหน่งที่สูง แล้วเสด็จไปหาเขาที่บ้านพัก กล่อมเขาให้รับตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี แต่เหวินปฏิเสธ ฮ่องเต้ทรงถามว่า เขาต้องการอะไรอีก
เขาตอบว่า เขาไม่ต้องการเป็นข้าสองเจ้าบ่าวสองนาย ฮ่องเต้กุไบลข่านทรงหมดปัญญา เหวินเทียนเสียงจึงถูกประหารชีวิตเมื่อ วันที่ ๙ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีมะแม ครงกับวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๑๘๒๖ ที่กรุงปักกิ่ง ด้วยอายุ ๔๗ ปี ต่อมาฮ่องเต้กุไบลข่านได้พระราชทานบรรศักดิ์ในระดับกง เป็น ลู่หลิงจวินกง 庐 陵军公 ในปีพ.ศ. ๑๙๑๙ ฮ่องเต้หมิงไท่จู่ ( จูหยวนจาง ) ในรัชกาลหงอู่ที่ ๘ รับสั่งให้สร้างศาลเจ้าเป็นอนุสรณ์สถานที่กรุงปักกิ่ง ที่บ้านเดิมคือเมืองจี๋อ้าน มณฑลเจียงซี ได้สร้างอนุสรณ์สถานเช่นเดียวกัน รวมทั้งที่ฮ่องกงมีอนุสรณ์สถานให้แก่เหวินเทียนเสียง
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๓
Title : Wen Tianxiang
: Somboon Kantakian
Note :
๑ เจี่ยซื่อเต้า มีชื่อปรากฏในหนังสือ 100 ทรชนในประวัติศาสตร์จีน แปลโดย กนกพร นุ่มทอง ๒๕๔๖
๒ ฮ่องเต้ซ่งกงตี้พร้อมพระนางทั้งสองจึงประทับที่ธิเบต ฮ่องเต้ทรงผนวชเป็นพระสงฆ์มหายานแบบธิเบต ส่วนพระนางทั้งสองทรงบวชชี พระจ้าวเสี่ยนกง ได้ทรงบทกวีนิพนธ์ต่อต้านราชวงศ์หยวน ฮ่องเต้หยวนไท่ติ้งตี้ ในปีรัชกาลไท่ติ้งที่ ๓ พ.ศ. ๑๘๖๖ รับสั่งให้ทหารไปจับพระจ้าวเสี่ยนกงประหารชีวิต ด้วยพระชนม์ ๕๓ ปี
|
|
|