|
จงขุ้ย 鍾馗
จงขุ้ย หรือ เจงขุย 鍾馗 เป็นเทพเจ้าประจำประตูหลังบ้าน ร้านค้าขาย โรงงาน อุตสาหกรรม สถานประกอบการที่ผลิตสินค้าราคาแพง เป็นต้น เหตุเกิดขึ้นในสมัยฮ่องเต้ถังเสวียนจง ( หลี่หลงจี ) หรือฮ่องเต้ถังหมิงหวง หรือ พระเจ้าเล่าเอี๋ย ที่รู้จักกันดี จงขุ้ยเป็นชาวตำบลเขาจงหนาน เขาจงหนาน หรือ จงหนานซาน หรือ ไท่อี้ซาน หรือ ตี้เฟยซาน หรือโจวหนานซาน ซึ่งเรียกสั้นๆว่า หนานซาน เขานี้อยู่ในเทือกเขาฉินหลิง ห่างจากเมืองฉางอานหรือซีอาน ๓๐ กิโลเมตร เป็นเทือกเขาที่มีการสร้างวัดลัทธิเต๋าเป็นจำนวนมาก เป็นแดนสวรรค์ของเต๋าแห่งหนึ่ง ด้วยมีภูเขาสลับซับซ้อน หุบเหวสายน้ำ ทิวทัศน์สวยงามร่มเย็นสงบ วัดต่างๆที่สร้างขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้าเล่าจื่อ เจ้าลัทธิ บริเวณเชิงเขา หุบเขามีราษฎรอาศัยทำมาหากินหลายตำบล จงขุ้ย ถือกำเนิดในตำบลบริเวณเชิงเขาจงหนาน ในสมัยฮ่องเต้ถังเกาจง (หลี่จื้อ) แห่งราชวงศ์ถัง ครองราชย์ระหว่างพ.ศ. ๑๑๙๓ ๑๒๒๖ จงขุ้ยเมื่อกำเนิดมาปรากฏว่าหน้าตารูปร่างอัปลักษณ์ ไม่เหมือนคนทั่วไป ด้วยศีรษะเหมือนเสือดำ ดวงตาแดงก่ำ ใบหน้าสีเหล็ก เมื่อเป็นหนุ่มมีหนวดเครารุงรังคล้ายขนสัตว์ ผมเผ้ารกรุงรัง แต่สิ่งหนึ่งที่เขามี คือ ความเป็นอัจฉริยะ เฉลียวฉลาด มีความจำเป็นเลิศ รักความยุติธรรม มีความซื่อสัตย์ เขาจึงใฝ่เรียนรู้เพื่อเตรียมตัวเข้ารับราชการ เมื่อเป็นหนุ่มเขาจึงสมัครสอบแข่งขันในระดับอำเภอ ระดับซิวจ๋าย ปรากฏว่าเขาสอบผ่านสบาย แล้วสมัครสอบระดับหัวเมืองเอก เขาก็สอบผ่านได้ระดับ จู่เหยิน เขาจึงชวนเพื่อนชื่อ ตู้ผิง 杜平 เดินทางเข้าเมืองหลวงฉางอาน เพื่อสมัครสอบในระดับ จินสือ เขาก็สอบได้อีก มีคะแนนระดับสูงสุด จึงมีโอกาสเข้าไปสอบแข่งขันต่อหน้าพระพักตร์ฮ่องเต้ ในวันสอบ ฮ่องเต้ถังเกาจงเสด็จมาเป็นประธานและทรงไล่เรียงความรู้ ปรากฏว่า เขาได้คะแนนสูงสุด แต่ปรากฏว่าขุนนางผู้ใหญ่ผู้กำกับการสอบ คือ หลูฉี ได้กล่าวตำหนิติเตียนรูปร่างหน้าตาของเขาที่อัปลักษณ์ ต่อหน้าพระที่นั่ง ซึ่งเขาได้ย้ำหลายครั้ง ทำให้ฮ่องเต้ถังเกาจงทรงเปลี่ยนพระทัย ไม่ทรงแต่งตั้งเป็น จอหงวน โดยให้อันดับรองลงไป จงขุ้ยเสียใจมากที่ทรงเลือกเอาหน้าตา มาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา ด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจเสียใจ เขาจึงคิดสั้นด้วยการกระโจนเข้าใส่เสาหินเอาศีรษะชนเสาในพระตำหนักนั่นเอง ทำให้ฮ่องเต้และขุนนางทั้งหลายตลอดจนผู้ร่วมสอบ ตกใจคิดไม่ถึง เขาจึงเสียชีวิตทันที ฝ่ายเพื่อนคือ ตู้ผิง จึงนำศพกลับไปตำบลจงหนาน ทางราชสำนักจึงพระราชทานบรรดาศักดิ์ในตำแหน่งจินสือ ด้วยสายเข็มขัดและคำสั่งแต่งตั้งใส่โลงฝังไปพร้อมกัน หลังจากนั้นไม่นาน ตู้ผิงได้แต่งงานกับน้องสาวของจงขุ้ย แต่วิญญาณเขายังวนเวียนมาเข้าฝันช่วยชาวบ้านบ่อยๆ ชาวบ้านจึงช่วยกันสร้างศาลเจ้าที่เชิงเขาจงหนานเพื่อเป็นที่ระลึกถึงและเซ่นไหว้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ล่วงมาถึงรัชสมัยฮ่องเต้ถังเสวียนจง (หลี่หลงจี) ครองราชย์ระหว่างพ.ศ. ๑๒๕๕ ๑๒๙๙ ในรัชกาลไคหยวน พ.ศ. ๑๒๕๖ ๑๒๘๔ คืนหนึ่งระหว่างที่ทรงบรรทมกับพระสนมเอกแซ่หยาง หรือ พระนางหยางกุ้ยเฟย ทรงพระสุบินว่า มีปีศาจเข้ามาเต้นรำอยู่หน้าพระพักตร์และหน้าพระสนม ในขณะนั้นมีปีศาจอีกตนหนึ่งหน้าดำ รูปร่างสูงใหญ่ หนวดเครารุงรัง ขนคิ้วหนาใหญ่ ดวงตาเหมือนตาเสือ ผมยาวประบ่า แต่งตัวเหมือนเทพเจ้า เข้าไปจับปีศาจที่เต้นรำ ฮ่องเต้จึงทรงตรัสถามเขาว่า เป็นใครรับราชการหน่วยงานใด จงขุ้ยกราบทูลว่า เดิมเขาอยู่ที่เชิงเขาจงหนาน ได้เข้ามาสอบไล่สมัยฮ่องเต้ถังเกาจง ได้แค่จินสือ ไม่ได้จอหงวน จึงรู้สึกเสียใจเอาศีรษะฟาดเสาตาย เทพเจ้าที่เขาจงหนานเห็นว่าเขาซื่อสัตย์ จึงแต่งตั้งให้ปราบพวกผีปีศาจทั้งหลายที่มาเบียดเบียนมนุษย์ ... ฝ่ายพระสนมเอกหยาง ได้ฝันเห็นปีศาจเข้ามาทางประตูหลังตำหนัก ในเวลาเดียวกับฮ่องเต้ เมื่อเวลาออกว่าราชการ ทรงตรัสถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยฮ่องเต้ถังเกาจงว่าจริงเท็จประการใด ขุนนางผู้ใหญ่ชื่อ เหงงุย กราบทูลว่าเป็นเรื่องจริงทั้งหมดพร้อมกับเล่ารายละเอียด พระองค์จึงรับสั่งให้ช่างเขียนในราชสำนักชื่อ อู่เต้าจื่อ เขียนรูปตามที่ทรงเห็น แล้วให้เขียนชื่อ จงขุ้ยจอหงวนจีตี้ พร้อมกับประกาศให้ราษฎรเรียกว่า จงขุ้ยจอหงวน ด้วยเหตุที่พวกผีปีศาจเข้ามาทางประตูหลังตำหนัก จึงทรงให้เอาป้ายชื่อจงขุ้ยไปปิดไว้ที่ประตูหลังตำหนักด้วย ชาวบ้านจึงนำเอาอักษรชื่อจงขุ้ยไปติดที่ประตูหลังบ้านด้วย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ถึงรัชสมัยฮ่องเต้ถังเต๋อจง (หลี่กัว) ครองราชย์ระหว่างพ.ศ. ๑๓๒๓ ๑๓๔๘ ในการประกอบพืธีกรรมบวงสรวงภายในราชสำนัก ได้ทรงประกาศเลื่อนตำแหน่งจงขุ้ยให้สูงขึ้นเป็น ผู้ปราบปีศาจทั่วทุกแห่ง ในสมัยราชวงศ์ซ่ง พ.ศ. ๑๕๐๓ ๑๘๐๓ ราษฎรทั่วไปต่างพากันนำรูปและชื่อจงขุ้ยไปปิดที่ประตูหลังบ้าน เพื่อป้องกันปีศาจเข้าบ้าน สมัยฮ่องเต้เฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิง ครองราชย์พ.ศ. ๒๒๗๘ ๒๓๔๐ ในปีพ.ศ. ๒๓๐๐ ได้เกิดโรคห่าระบาดไปทั่ว ราษฎรตายเป็นจำนวนมาก ไม่มีใครสามารถช่วยได้ ชาวบ้านหมดที่พึ่ง จึงพากันเขียนรูปและชื่อจงขุ้ยไปติดไว้ที่ประตูหลังบ้าน ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นประเพณีสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๓
Title : Zhong Kui
: Somboon Kantakian
|
|
|