|
ลัทธิความเชื่อ
ลัทธิความเชื่อ
ไท้อี้ในฐานะที่เป็นเจ้านครปั๋ว ได้ร่วมมือกับพันธมิตรคือพวกเจ้านครที่ขึ้นตรงต่อราชวงศ์เซี่ย ทำการโค่นล้มราชวงศ์เซี่ยสำเร็จโดยอ้างว่า กษัตริย์เซี่ยเจี่ยไม่ทรงตั้งอยู่ในความยุติธรรม และโหดร้ายทารุณต่อราษฎร นอกจากนี้ไท้อี้ยังอ้างด้วยว่า ตนได้รับพระบัญชาจาก องค์ซังตี้ ผู้เป็นเทพเจ้าสูงสุดแห่งสวรรค์ ให้ทำการปราบปรามยุคเข็ญ ซึ่งเป็นความชอบธรรมของตนที่จะกระทำการปฏิวัติดังกล่าว แล้วสถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าเฉิงทัง ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ซัง ชนเผ่าซังนอกจากจะเคารพบูชาเทพเจ้าซังตี้แล้ว ยังมีเทพเจ้าแห่งธรรมชาติ ได้แก่ เทพพระอาทิตย์ พระจันทร์ ดวงดาวต่างๆ เทพแห่งลม เทพแห่งฝน เทพแห่งน้ำ พระธรณี เทพแห่งแม่น้ำ ปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ เช่น ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ตลอดจนสถานที่ที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ และประการสำคัญ ชนเผ่าซังยังเคารพบวงสรวงบรรพบุรุษด้วย พวกเขามีความเชื่อว่า บรรพบุรุษเมื่อตายไปแล้ว จะไปสถิตอยู่บนสวรรค์ และยังมีความสัมพันธ์อยู่กับครอบครัวลูกหลานอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นพวกเขาจึงต้องปฏิบัติต่อพิธีกรรมเซ่นไหว้บรรพบุรุษเป็นอย่างดี หากปฏิบัติไม่ดีจะมีผลต่อครอบครัว การบวงสรวงต่อวิญญาณบรรพบุรุษและเทพเจ้าต่างๆจึงมีความสำคัญ
เมื่อกษัตริย์เสด็จสวรรคต พวกข้าทาสบริวารตลอดจนนางสนม รถม้าและตัวม้า พวกสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข จะถูกฝังทั้งเป็นพร้อมพระศพ จากการสำรวจสุสานกษัตริย์บางหลุม ปรากฏว่ามีศพข้าทาสถึง ๔๐๐ ศพ นอกจากนี้ยังมีข้าวของเครื่องใช้อีกเป็นจำนวนมาก เพื่อให้พระองค์ได้ทรงนำไปใช้สอยในสวรรค์
ในพิธีบวงสรวงสังเวยบรรพบุรุษ เคยมีการนำข้าทาสมาสังเวยด้วยการตัดคอถึง ๒,๖๕๖ คน ข้าทาสเหล่านี้เป็นเชลยศึกหรือชนเผ่าป่าเถื่อน ส่วนสามัญชนชาวซังจะไม่ถูกจับไปสังเวยเลย
การบวงสรวงเทพเจ้าก็เพื่อขอให้เทพเจ้าดลบันดาลให้เกิดความงอกงามด้านเกษตรกรรม ฝนตกต้องตามฤดูกาล การเก็บเกี่ยวได้ผลดี ส่วนการบวงสรวงต่อบรรพบุรุษนั้นก็เพื่อติดต่อกับดวงวิญญาณของท่านให้ช่วยอำนวยพรให้ตามที่พวกตนขอ
การประกอบพิธีกรรมบวงสรวงต่อเทพเจ้าองค์ต่างๆ และบรรพบุรุษจะรวมกันเป็นหนึ่งเดียว คือ องค์เทพเจ้าซังตี้ ซึ่งผู้เป็นประธานในพิธีเป็นกษัตริย์เท่านั้น ทั้งนี้อาจจะเพื่อทรงรักษาพระราชอำนาจในชนเผ่าไว้
ในพิธีกรรมบวงสรวงเซ่นไหว้เทพเจ้าซังตี้และดวงวิญญาณบรรพบุรุษ นอกจากการเตรียมกระดองเต่าหรือกระดูกสัตว์ดังได้กล่าวมาแล้ว พนักงานในพิธีซึ่งเป็นผู้ช่วยกษัตริย์ จะต้องเตรียมภาชนะเครื่องทองบรอนซ์ ประกอบด้วยภาชนะดังนี้
๑) แท่นวางของ หรือตั่ง หรือ โต๊ะ
๒) หม้อติง อาจเป็นทรงกลมสามขาหรือทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าหรือสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่มีสี่ขา มีสองหูขนาดใช้ไม้สอดเข้าห้ามได้ สำหรับปรุงและใส่อาหาร
๓) กุ้ย เป็นภาชนะสำหรับใส่เมล็ดพืช บางที่มีฝาปิด
๔) เต้า เป็นจานไม้ สำหรับใส่เนื้อ
๕) หู เป็นเหยือกใส่สุรามีฝาปิด
๖) พาน เป็นพานมีเชิงสำหรับบรรจุน้ำ
๗) อี้ หรือ เหอ เป็นกาใส่สุรา มีฝาปิด
๘) จอกสุรามีหลายแบบ ( จือ เจี่ย จิว เจี่ยว )
๙) เส้า เป็นทัพพี
๑๐) อื่นๆ
ในสมัยราชวงศ์โจว ได้มีการกำหนดการนำภาชนะทองบรอนซ์ไปประกอบพิธีกรรมบวงสรวงเทพเจ้าและดวงวิญญาณบรรพบุรุษไว้ดังนี้
กษัตริย์ ใช้ ติง ๙ ใบ ใช้ กุ้ย ๘ ใบ
ขุนนางชั้นจูเฮา , กง ใช้ ติง ๗ ใบ ใช้ กุ้ย ๖ ใบ
ขุนนางชั้นไต้ฝู ใช้ ติง ๕ ใบ ใช้ กุ้ย ๓ ใบ
ขุนนางชั้น ซื่อ ใช้ ติง ๓ ใบ ใช้ กุ้ย ๒ ใบ
นอกจากนี้ โจวหลี่ ขุนนางชั้นสูงแห่งราชวงศ์โจว ได้กล่าวถึงข้าราชการผู้ที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมบวงสรวงไว้ดังนี้
๑) ขุนนางผู้รับผิดชองเกี่ยวกับการจัดและตกแต่งปะรำพิธีหรือศาลเจ้า
๒) ขุนนางผู้รับผิดชอบดูแลสุสานกษัตริย์และราชวงศ์
๓) นักดนตรีประจำราชสำนัก
๔) เจ้าพิธีกรรม
๕) ผู้อัญเชิญวิญญาณ
๖) นักจดหมายเหตุในพิธี
๗) นักจดหมายเหตุหรืออาลักษณ์ในราชสำนัก
๘) ขุนนางผู้รับผิดชอบเกวียนที่ใช้ในพิธี
๙) ข้าราชการที่รับผิดชอบศาลเจ้าหรือปะรำพิธีนอกเมืองหลวง
ภาชนะ ติง ทั้งทรงกลมและสี่เหลี่ยมค่อนข้างใหญ่ หนา เทอะทะ เวลายกต้องใช้คานสอดหาม เข้าใจว่า การกำหนดจำนวนติงคงจะกำหนดประเภทของอาหารที่ปรุงด้วย
พิธีกรรมบวงสรวงดังกล่าวจะประกอบควบคู่ไปกับการทำนายหรือ เทพพยากรณ์ ในสมัยแรกเริ่มของราชวงศ์ซัง การทำนายเหล่านี้ มีผู้ทำนายหรือโหรประจำราชสำนัก ซึ่งเป็นกลุ่มชนอีกระดับหนึ่งในสังคมที่อยู่ระหว่างชนชั้นสูงกับสามัญชน นักทำนายเหล่านี้ จะมีความเชี่ยวชาญในการทำนายเฉพาะเรื่องไปในแต่ละคน เช่น คนหนึ่งเก่งในการทำนายด้านการสงคราม คนหนึ่งเก่งการทำนายในเรื่องเกษตรกรรมการเก็บเกี่ยวพืชผล อีกคนเก่งทางด้านกิจกรรมภายในสังคม คนหนึ่งเก่งทำนายการถึงแก่กรรม เป็นต้น แล้วแต่ละคนจะนำความรู้และประสบการณ์ในผลของการทำนายมาแลกเปลี่ยนกัน
อย่างไรก็ตาม ล่วงมาถึงปลายสมัยราชวงศ์ซัง กษัตริย์ได้ทรงยึดอำนาจการทำนายทั้งหมดมาทรงทำเสียเอง ซึ่งอาจจะมีผลทางจิตวิทยาการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยก็ได้ เช่น การทำนายเรื่องการสงคราม การปกครองบ้านเมือง การผลิตผลทางการเกษตร ความตาย ฯลฯ คำทำนายเหล่านั้นอาจทำให้ราษฎรหวั่นไหวได้ สังคมชาวซังเป็นสังคมแห่งความเชื่อถือโชคลาง พวกเขาเชื่อเรื่องเทพเจ้า จิตวิญญาณ และยังเชื่อด้วยว่า วิญญาณแห่งบรรพบุรุษจะช่วยปกป้องคุ้มครองชาวซังทุกคน การพยากรณ์ การดูหมอดู เป็นที่นิยมของทุกหมู่ชนชั้น พวกเขาเชื่อว่า พลังแห่งคำพยากรณ์มีส่วนสัมพันธ์ ระหว่างเทพเจ้าหรือวิญญาณบรรพบุรุษ กับตัวเขา เพื่อให้ตัวเขาสามารถแก้ปัญหาต่างๆให้ลุล่วงไปได้
วิธีการทำนายจึงเริ่มด้วยการบวงสรวงเทพเจ้าและบรรพบุรุษก่อน เพื่อให้เทพเหล่านั้นให้ความเมตตาปราณีต่อพวกเขา ก่อนเริ่มพิธี ผู้ทำนายหรือกษัตริย์ จะต้องตั้งคำถามไว้ก่อน แล้วจึงนำกระดองเต่าหรือกระดูกสัตว์ลนไฟหรือเผาไฟ จนมีรอยแตกร้าว ผู้ทำนายก็จะสังเกตดูรอยแตกนั้นว่า เป็นรอยแตกขึ้นหรือเป็นรอยแตกชี้ลง แต่ถ้าเป็นรอยแตกตามยาวจะไม่มีการทำนาย หลังจากดูรอยแตกแล้ว ผู้ทำนายก็ตัดสินใจทำนาย ในบางครั้งคำเดียวต้องลนไฟหลายครั้ง เพื่อต้องการคำตอบที่ชัดเจนแน่นอน จากรอยแตกนั้นจะเป็นคำตอบว่า ใช่ หรือ ไม่ใช่ หรือ บางทีอาจจะ ดี ไม่ดี บางครั้งผู้ทำนายสามารถอ่านและทำนายว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดเมื่อใด อย่างไรก็ตาม การทำนายเหล่านี้ใช่ว่าจะทายถูกต้องเสมอไป จากผลการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญเจี่ยกู่เหวิน พบว่า ผลของการทำนายไม่แม่นยำเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์บันทึกของนักจดหมายเหตุ เข้าใจว่า ผู้ทำนายคงได้ศึกษารอยแตกจากข้อมูลเก่าๆที่เก็บไว้ จากรอยแตกร้าวในลักษณะใดจะเป็นคำตอบแบบใด
ตัวอย่างคำถามคำตอบที่น่าสนใจ ดังนี้
คำถาม กษัตริย์ไปล่าสัตว์ได้ไหม
คำตอบ ไปได้และจับเสือได้ตัวหนึ่ง
คำถาม กษัตริย์จะประกาศสงครามกับชนเผ่านั้นได้ไหม
คำถาม ถ้าเกิดสุริยุปราคา ฤกษ์จะดีไหม
คำถาม จะเกิดโชคร้ายต่อกษัตริย์ในอีก ๑๐ วันข้างหน้าไหม
กษัตริย์ได้ศึกษารอยแตกแล้วตรัสว่า เป็นลางไม่ดี วันต่อมากษัตริย์ได้เสด็จไปล่าสัตว์ประเภทที่มีเขาใหญ่ สารถีขับราชรถเทียมม้าสะดุดก้อนหิน รถม้าพระที่นั่งคว่ำ พระองค์และโอรสหกคะเมนลงพื้น
คำถามคำตอบอื่นๆ เช่น
๑) จะให้องค์หญิงหาวบวงสรวงแสดงความบริสุทธิ์ต่อ พระบิดาผู้ล่วงลับหรือไม่
๒) จะเอาข้าทาสบูชายัญไหม
๓) จะเอาทาสจากชนเผ่าเจียง ( ชนเผ่าทุ่งหญ้าเลี้ยงแกะ ) มาบูชายัญไหม
๔) พิธีกรรมบริสุทธิ์ต่อพระพักตร์ สู่ติง จะใช้วัวสามคู่และชนเผ่าเจียงบูชายัญไหม
๕) จะต้องเกณฑ์คนไปรบกับชนเผ่าหูไหม จะเกณฑ์สักสามพันหรือหนึ่งพันคน
๖) เพื่อจะได้รับชัยชนะชนเผ่าหู ( พวกป่าเถื่อน ) จะสวดอ้อนวอนเทพเจ้าทัง ( พระเจ้าซังทัง ) หรือ เทพเจ้าซังเจี่ย
๗) เราจะบวงสรวงด้วยสุราไหม
๘) เราจะบวงสรวงบรรพบุรุษ ต้าเจี่ย และ ส่าอี้เติน ด้วยการตัดคอคน(ข้าทาส)และฆ่าแกะ ๑๐ คู่เพื่อขอบพระทัยไหม
๙) เราจะเก็บเกี่ยวข้าวฟ่างได้ผลไหม
๑๐) เราจะไม่ได้รับผลผลิตจากข้าวฟ่างไหม ( กษัตริย์ทรงอ่านรอยแตกแล้วทรงทำนาย ) เราจะได้รับผลดีจากการปลูกข้าวฟ่าง
๑๑) จะเอาคน(ข้าทาส) บูชายัญ เพื่อทำให้ฝนตกไหม
๑๒) จะฆ่าวัวสามคู่บวงสรวง จะทำให้ข้าวฟ่างได้ผลดีไหม
๑๓) เราจะบวงสรวงด้วยวัว ๑ ตัว แก่ ซังเจี่ย พ่อเกิง พ่อซิน
๑๔) เราจะไม่บวงสรวงวัว ๑ ตัวแก่ ซังเจี่ย พ่อเกิง พ่อซิน
ฯลฯ
นอกจากพิธีกรรมบวงสรวงเทพเจ้าและบรรพบุรุษและเทพพยากรณ์แล้ว ยังมีพิธีฝังพระศพกษัตริย์ สุสานจะจัดทำอย่างประณีตสวยงาม มีการประกอบพิธีเซ่นไหว้อย่างต่อเนื่อง เมื่อกษัตริย์เสด็จสวรรคต พวกข้าทาสบริวารตลอดจนนางสนม รถม้าและตัวม้า พวกสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข จะถูกฝังทั้งเป็นพร้อมพระศพ จากการสำรวจสุสานกษัตริย์บางหลุม ปรากฏว่ามีศพข้าทาสถึง ๔๐๐ ศพ นอกจากนี้ยังมีข้าวของเครื่องใช้อีกเป็นจำนวนมาก เพื่อให้พระองค์ได้ทรงนำไปใช้สอยในสวรรค์ โอรสกษัตริย์ทรงไว้ทุกข์สามปีก่อนเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ พิธีกรรมและสุสาน จะใช้กับกษัตริย์และชนชั้นสูงเท่านั้น เพราะถือว่า ชนกลุ่มนี้มีภารกิจที่จะต้องปฏิบัติต่อชนเผ่าตลอดเวลาหลังความตาย ส่วนคนที่มีตำแหน่งต่ำลงมาจะใช้โลงไม้แบบง่ายๆบรรจุศพ พวกสามัญชน คนยากจนและข้าทาสจะไม่ได้ใส่โลงเวลาฝังศพ
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๐
Title : Shang Religion
: Somboon Kantakian
|
|
|